Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289

การคิดและกระบวนการคิด

การคิดและกระบวนการคิด

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
“การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่างจะคิดให้วัฒนะคือคิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้จะคิดให้หายนะคือคิดแล้วทำให้พินาศฉิบหายก็ได้การคิดให้เจริญจึงต้องมีหลักอาศัยหมายความว่าเมื่อคิดเรื่องใดสิ่งใดต้องตั้งใจให้มั่นคงในความเป็นกลางไม่ปล่อยให้อคติอย่างหนึ่งอย่างใดครอบงำให้มีแต่ความจริงใจตรงตามเหตุตามผลที่ถูกแท้และเป็นธรรม”
ความเจริญในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ล้วนเกิดจากความคิด ของมนุษย์ที่ต้องการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อความต้องการที่ จะมีชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาทางด้านความคิดได้เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เราจึงควรทราบเกี่ยวกับการคิดและกระบวนการคิด และหาวิธีการต่างๆ เพื่อฝึกตนเองให้เป็นคน ที่คิดเป็นระบบ คิดถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
 
1.1 ความหมายของการคิด
ฮิลการ์ด (Hilgard ) กล่าวว่า การคิดเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสมองอันเนื่องมาจากการใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งของ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ บรูโน (Bruno ) กล่าวว่า การคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่ใช้สัญลักษณ์จินตภาพ ความคิดเห็น และความคิดรวบยอด แทนประสบการณ์ในอดีต ความเป็นไปได้ในอนาคต และความเป็นจริงที่ปรากฏ การคิดจึงทำให้คนเรามีกระบวนการทางสมองในระดับสูง กระบวนการเหล่านี้ได้แก่ ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา จินตนาการ ความใส่ใจ เชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ มากาเรต ดับบลิว แมทลิน (Matlin ) กล่าวว่า การคิดเป็นกิจกรรมทางสมอง เป็นกระบวนการทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วย การสัมผัส การรับรู้ การรวบรวม การจำ การรื้อฟื้นข้อมูลเก่าหรือประสบการณ์ โดยที่บุคคลนำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เก็บไว้เป็นระบบ การคิดเป็นการจัด รูปแบบของข้อมูลข่าวสารใหม่กับข้อมูลเก่า ผลจากการจัดสามารถแสดงออกมาภายนอกให้ผู้อื่นรับรู้ได้
อาจสรุปได้ว่าการคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองที่ใช้สัญลักษณ์หรือภาพแทนสิ่งของ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆโดยมีการจัดระบบความรู้ ข้อมูล ข่าวสารซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งเร้าใหม่ ที่ไปได้ ทั้งใน รูปแบบ ธรรมดาและสลับซับซ้อน ผลจากการจัดระบบสามารถ แสดงออกได้หลายลักษณะ เช่น การให้เหตุผลการแก้ปัญหาต่าง ๆ

ภาพที่ 1.1 แสดงสมองของมนุษย์

เนื่องจากการคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง เราจึงควรที่จะทราบเกี่ยวกับสมอง เช่นโครงสร้างทางสมอง และพิจารณาว่ามีความสัมพันธ์กับการคิดในลักษณะใดบ้าง
 1.2 โครงสร้างทางสมองกับการคิด
สมองเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่เป็นศูนย์รวมของระบบประสาท เป็นศูนย์กลางในการควบคุม และจัดระเบียบ การทำงานทุกชนิดของร่างกาย สมองของมนุษย์ ประกอบด้วยเซลล์ สมอง ประมาณ ร้อยล้านล้านเซลล์ ( พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์, 2542 :7) ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน ระหว่าง ทารกแรกเกิดกับผู้ใหญ่ แต่ในผู้ใหญ่เซลล์สมอง จะมีขนาดใหญ่และยาวกว่า และจะมีจำนวนเดนไดรท์ (dendrite) ของเซลล์สมองมากขึ้น ทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง เซลล์สมองมากขึ้น โดยเซลล์สมองเซลล์หนึ่ง ๆ จะเชื่อมโยงไปยังเซลล์สมองเซลล์อื่น ๆ อีกสองหมื่นห้าพันเซลล์ เพื่อส่งข่าวสารกัน โดยกระแสประสาท จะเกิดปฏิกิริยาเรียกว่า synapse แล้วแต่ว่าจะเป็นด้านรับ- ส่งสัมผัสต่าง ๆ เช่น ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ความรู้สึก ความจำ อารมณ์ทั้งหลาย ฯลฯ จึงผสมผสานกันขึ้นกลายเป็นการเรียนรู้นำ ไปสู่การปรับตัว อย่างเฉลียวฉลาดของมนุษย์แต่ละคน
รอเจอร์ สเพอร์รีและรอเบิร์ต ออร์นสไตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียได้รับรางวัลโนเบลในปี ค. ศ. 1972 จากการค้นพบว่าสมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือสมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) กับสมองซีกขวา (Right Hemisphere) และแต่ละซีกมีหน้าที่ที่แตกต่างกันดังนี้
สมองซีกซ้าย สมองซีกซ้ายจะควบคุมดูแลพฤติกรรมของมนุษย์ใน เรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
      1. การคิดในทางเดียว ( คิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง)
      2. การคิดวิเคราะห์ ( แยกแยะ)
      3. การใช้ตรรกศาสตร์และการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
      4. การใช้ภาษา มีทั้งการอ่านและการเขียน
    สรุปได้ว่าสมองซีกซ้ายจะควบคุมดูแลพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นลักษณะ การทำงานในสายของวิชาทางวิทยาศาสตร์ ( Sciences ) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้สมองซีกซ้ายยังเป็น ตัวควบคุม การกระทำ การฟัง การเห็น และการสัมผัสต่าง ๆ ของร่างกายทางซีกขวา
สมองซีกขวา สมองซีกขวาจะควบคุมดูแลพฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
      1. การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking )
      2. การคิดแบบเส้นขนาน ( คิดหลายเรื่อง แต่ละเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกัน)
      3. การคิดสังเคราะห์ ( สร้างสิ่งใหม่)
      4. การเห็นเชิงมิติ ( กว้าง ยาว ลึก)
      5. การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรัก ความเมตตารวมถึงสัญชาติญาณและลางสังหรณ์ต่าง ๆ
    สรุปได้ว่าสมองซีกขวาจะควบคุมดูแลพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จริยธรรม อารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานในสายของวิชาการทางศิลปศาสตร์ ( Arts ) เป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นตัวควบคุม การทำงานของร่างกายทางซีกซ้ายด้วย
การศึกษาในโรงเรียนในระบบเดิมให้ความสำคัญกับการใช้สมองซีกซ้าย ส่งเสริมให้เด็กผู้เรียน ได้รับการฝึกฝนความสามารถในการใช้เหตุผล การใช้ภาษาอย่างมาก อยากให้เด็ก ๆ มีอาชีพ เป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนการส่งเสริมทางด้านความคิดสร้างสรรค์มีน้อย ดังเช่น “ ว่านอนสอนง่าย” “ เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ต่อมาเห็นความสำคัญกับการใช้สมองซีกขวา เช่นการส่งเสริมการแสดงออกแบบต่าง ๆ การส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเรียนทางด้าน การออกแบบ การแสดง การประชาสัมพันธ์ จากการที่สมองทั้ง 2 ซีกทำหน้าที่ต่างกัน เราจึงสามารถสรุปเกี่ยวกับลักษณะของบุคคลซึ่ง ใช้สมองด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้าน หนึ่งได้ ดังนี้ สำหรับคนที่ทำงานโดยใช้สมองซีกขวามากกว่าซีกซ้าย จะมีลักษณะเด่นที่แสดงออกคือ เป็นคนที่ทำอะไร ตามอารมณ์ตนเอง อาจมีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย แต่จะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สูงเหมาะสำหรับการเป็น นักออกแบบ เป็นศิลปิน
สำหรับคนที่ทำงานโดยใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา จะมีลักษณะเด่นที่แสดงออกมาดังนี้คือ ทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นเหตุเป็นผล ด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เหมาะสำหรับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การออกแบบระบบงานต่าง ๆ แต่อาจทำให้ไม่ได้คำนึง ถึงจิตใจของคนรอบข้างมากนัก
จากข้อสรุปดังกล่าว จะเห็นว่าถ้าเราใช้สมองด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ ดังนั้นเราทุกคนควรใช้สมองทั้งสองซีก เมื่อเจอปัญหา การหาทางแก้ปัญหาเราใช้สมองซีกขวา ใช้จินตนาการ ในการหาหนทางแก้ปัญหา โดยคิดถึงผลที่ได้โดยรวมซึ่งคิดได้หลายวิธี แต่ในขณะเดียวกันเราก็ใช้สมอง ซีกซ้ายเพราะว่าเราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือความจริงเพื่อใช้ความสามารถในการวิเคราะห์และการจัดการเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
กิจกรรม 1.1 ในอาหารมื้อต่อไป ให้นักศึกษาลองพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้
  1. ในอาหารมื้อนี้ ได้ธาตุอาหารครบหมู่ หรือไม่
  2. มีไขมันมากเกินไปหรือเปล่า
  3. มีโปรตีนเพียงพอหรือไม่
  4. ใช้เวลาหลังอาหารพิจารณาว่านักศึกษาต้องทำอะไรต่อไป
  1. สีสัน และลักษณะของอาหารแต่ละอย่างเป็นอย่างไร
  2. น้ำซอสหรือน้ำมันที่ใส่ หรือเหยาะลงบน
  3. อาหารไหลไปในทิศทางใด
  4. กลิ่นอาหารเป็นอย่างไร
  5. รสของอาหารและอุณหภูมิของอาหาร
เป็นการใช้สมองซีกซ้าย
เป็นการใช้สมองซีกขวา
 1.3 กระบวนการของการคิด
การคิดเป็นกระบวนการของจิตใจหรือกระบวนการทางสมอง ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ การคิดไม่มีขอบเขตจำกัด กระบวนการคิดของมนุษย์เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่เริ่มจากสิ่งเร้ามา กระตุ้นทำให้จิตใส่ใจกับสิ่งเร้าและสมองนำข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่มาประมวล เพื่อให้ได้ผลของการคิดออกมา
เหตุของการคิด ต้นเหตุของการคิดคือสิ่งเร้าที่เป็นปัญหา หรือสิ่งเร้าที่เป็นความต้องการ หรือสิ่งเร้าที่ชวนสงสัย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) สิ่งเร้าที่เป็นปัญหา เป็นสิ่งเร้าประเภทสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือสภาวะที่มากระทบแล้ว จำเป็นต้องคิด ( Have to think) เพื่อกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะทำให้ปัญหานั้นลดไปหรือหมดไป
2) สิ่งเร้าที่เป็นความต้องการ เป็นความต้องการสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมในแง่ต่าง ๆ เช่น ต้องการลดต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้องการทำงานโดยใช้เวลาน้อยลง ต้องการความปลอดภัยมากขึ้น จึงต้องการการคิด (Want to think ) มาเพื่อทำให้ความต้องการหมดไป
3) สิ่งเร้าที่ชวนสงสัย เป็นสิ่งเร้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่มากระตุ้นให้สงสัย อยากรู้ ซึ่งในสภาพการณ์เดียวกัน สิ่งเร้าเดียวกัน บางคนอาจไม่อยากรู้ก็ไม่เกิดการคิด แต่บางคนก็อยากรู้ซึ่งอาจเกิดจากบุคลิกภาพประจำตัวที่เป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย ทำให้ต้องการคำตอบเพื่อตอบข้อสงสัย นั้น ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาต่อ ๆ ไป
ผลของการคิด คือคำตอบหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปแก้ปัญหาที่พบ หรือเพื่อให้ความต้องการ หรือความสงสัยลดลงหรือหมดไป ผลของการคิดได้แก่
1) คำตอบของปัญหาที่พบ หรือคำตอบที่สนองต่อความต้องการของตน ซึ่งรวมไปถึงวิธีการในการแก้ปัญหา ขั้นตอนในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้คำตอบนั้น ๆ
2) แนวคิด ความรู้ ทางเลือก และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ๆ
ภาพที่ 1.2 แสดงกระบวนการคิดของมนุษย
1.4 ประเภทของการคิด
การคิดแบ่งออกได้หลายประเภท แล้วแต่ว่าจะยึดคุณลักษณะใดเป็นหลักในการแบ่ง ในที่นี้แบ่งตามลักษณะทั่ว ๆ ไป ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ
1) การคิดประเภทสัมพันธ์ (Associative Thinking) เป็นการคิดที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย เกิดจากสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดสัญลักษณ์ในสมองแทนเหตุการณ์ หรือวัตถุต่าง ๆ เช่น
ก . การฝันกลางวัน (Day Dreaming) เป็นการคิดเพ้อฝันในขณะที่ยังตื่นอยู่ ฝันโดยรู้ตัว เช่น ขณะที่กำลังนั่งเรียนอยู่ นักศึกษาอาจคิดฝันไปว่าตนเองกำลังเดินเล่นตามชายหาด
ข . การฝันกลางคืน ( Night Dreaming) เป็นการฝันโดยไม่รู้ตัว มักเกิดในขณะหลับ เช่น ฝันถึงเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งบางเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พบในเวลากลางวัน บางเรื่องเป็นเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจ เมื่อตื่นขึ้นบางทีอาจจำความฝันได้หรือบางทีก็จำไม่ได้
ค . การคิดที่เป็นอิสระ (Free Association) เป็นการคิดที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้คิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ การคิดประเภทนี้ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นำมาใช้โดยให้คนไข้โรคประสาทได้ระบายความปรารถนาหรือปัญหา ซึ่งอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก เพื่อจิตแพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้ สำหรับวิธีการให้คนไข้คิดแบบอิสระนี้ จิตแพทย์จะให้คนไข้ได้ผ่อนคลายความตึงเครียดเสียก่อน โดยให้นอนพักผ่อนบนเก้าอี้นอนแล้วจึงให้พูดเล่าเรื่องและเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนความฝันที่เกิดขึ้น จิตแพทย์จะพยายามค้นหาความปรารถนาหรือความต้องการ และปัญหาของคนไข้จากสิ่งที่เขาพูดให้ฟัง นั่นเอง
2) การคิดโดยตรงที่ใช้ในการแก้ปัญหา ( Directed Thinking) เป็นการคิดหาเหตุผลและมีจุดมุ่งหมาย แบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ
ก . การคิดเชิงวิจารณ์ (Critical Thinking) เป็นการคิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ว่าถูกหรือผิดโดยใช้เหตุผลประกอบซึ่งการให้เหตุผลนั้นมี 2 แบบคือ การคิดแบบอนุมาน(Deductive Thinking) เป็นการคิดหาเหตุผลในการหาคำตอบจากหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ และ การคิดแบบอุปมาน(InductiveThinking) เป็นการคิดหาเหตุผลในการสรุปหลักเกณฑ์จากข้อมูลที่สังเกตได้
ข. การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึงกระบวนการคิดการกระทำผลงานใหม่ๆ ที่มนุษย์คิดและประดิษฐ์ขึ้น โดยทั่วไปความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้สองลักษณะคือ เกิดจากความคิดริเริ่มประดิษฐ์อะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน และเกิดจากการคิดดัดแปลงสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์

1.5 ปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาของสมอง
เราทราบแล้วว่าการคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง ดังนั้นถ้าเราได้พัฒนาสมองย่อมส่งผล ต่อการพัฒนา การคิดด้วย ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาของสมองมีดังนี้
1) พันธุกรรม มนุษย์ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ ดังนั้นสมองจึงมีส่วนมาจากพันธุกรรมของพ่อและแม่ด้วย
2) อาหาร การสร้างเซลล์ใหม่หรือขยายเซลล์ในร่ายกายจำเป็นต้องใช้สารอาหาร ถ้าขาด อาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่กำลังเติบโต อาจส่งผลให้สมองหยุดการเจริญเติบโตได้ เพราะในช่วงดังกล่าวเซลล์สมองกำลังยื่นกิ่งก้านสาขาออกไป และต้องการสารอาหารพวกโปรตีนไปเป็นโครงสร้าง เมื่อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ กิ่งก้านของเซลล์สมองก็จะไม่สามารถแตกกิ่งยื่นออกไป เราสามารถเปรียบเทียบเซลล์สมองของเด็กที่ได้รับสารอาหารสมบูรณ์และได้รับการกระตุ้น กับเซลล์สมองของเด็กขาดสารอาหารและขาดการกระตุ้นได้ดังภาพที่ 1.3
ภาพที่ 1.3 (1) เซลล์สมองของเด็กที่สมบูรณ
ภาพที่ 1.3(2) เซลสมองของเด็กที่ขาดสารอาหาร
ภาพที่ 1.3 เปรียบเทียบเซลล์สมองของเด็กขาดสารอาหารและเด็กปกติ
3) สิ่งแวดล้อม มีผลการวิจัยหลายชิ้นที่สรุปได้ว่า สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลทำให้สมองเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ มีผลต่อความเฉลียวฉลาด ประสิทธิภาพของพฤติกรรมและการสร้างเซลล์ประสาทในสมอง เช่นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประกอบด้วยมาร์ค โรเซนไวท์ (Mark Rosenweiz) มารีแอนไดมอนด์(Marian Diamond) และเอดเวริด เบนเนท (Edward Bennett) ได้นำหนูมาคอกหนึ่งแล้วแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง เอามาขังกรงเดี่ยวในกรงเหล็กที่ขังสัตว์ธรรมดา มีกระบอกข้าว กระบอกน้ำ ให้มีอาหารกินแต่ไม่มีสิ่งกระตุ้น
กลุ่มที่สอง ใส่หนูลงในกรง กรงละ 3-4 ตัว ให้อาหารและน้ำเช่นเดียวกับกลุ่มที่หนึ่ง แต่มีเพื่อนเล่น
กลุ่มที่สาม ให้อาหารและน้ำเช่นเดียวกับกลุ่มที่หนึ่ง และใส่ของเล่นในกรงด้วย เช่น เศษกระดาษ ด้าย เชือก ลูกบอล
เมื่อเลี้ยงหนูไปได้ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ก็นำหนูมาทดสอบความเฉลียวฉลาด โดยนำมาทดสอบทางวิ่งแล้วให้เลือก ทางวิ่งดูว่ามันแก้ปัญหาได้หรือไม่ โดยทำให้หนูรู้ว่าต้องวิ่งทางนี้ถึงได้รางวัล คืออาหาร วิ่งทางใดจะถูกทำโทษคือ ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า ปรากฏว่าหนูที่มาจากกรงที่มีสิ่งเร้าอย่างกลุ่มที่สาม ฉลาดกว่าหนูกรงอื่นๆ ส่วนกรงที่สองมีอาการปกติ แต่ตัวที่ถูกขังเดี่ยวมีความว้าเหว่และการเรียนรู้ลดลงเหลือเพียง 30% - 40% เท่านั้น
จากนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ได้เอาสมองของหนูทั้งสามกรงมาชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่ามีน้ำหนักทางสมองแตกต่างกันไม่มากนัก แต่เมื่อนำเนื้อสมองของหนูทั้งสามกลุ่มไปตัดเป็นชิ้น ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูกิ่งก้านของสมอง ปรากฏว่าเซลล์และ ประสาทสมองของหนูทั้งสามกลุ่ม แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยหนูที่ถูกเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่มีการกระตุ้นอย่างดี เซลล์สมอง จะมีปลายประสาทยื่นออกไปไกลจนสามารถติดต่อกับปลายประสาทอื่นๆ และแตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้อย่างสมบูรณ์
เราสามารถสรุปได้ว่า พันธุกรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาของสมอง ในแง่ของพันธุกรรม อาจพิจารณาประกอบร่วมในการเลือกคู่ครอง แต่ในส่วนของการพัฒนาสมองตนเองคงไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ จึงเหลือ เพียงปัจจัยอีก 2 อย่างคือ อาหาร และสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริม การพัฒนาของสมองต่อไป
1.6 โครงสร้างสมรรถภาพทางสมอง
กิลฟอร์ด (Guilford, 967.)นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาโครงสร้างสมรรถภาพทางสมองโดยเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความมีเหตุผลและการแก้ปัญหา จนได้แบบจำลองโครงสร้างสมรรถภาพทางสมองดังภาพที่ 1.4
ภาพที่ 1.4 รูปแบบโครงสร้างสมรรถภาพทางสมองของกิลฟอร์ด
รูปแบบโครงสร้างสมรรถภาพทางสมองของกิลฟอร์ดเป็นระบบสามมิติประกอบด้วย
1) มิติทางด้านเนื้อหาการคิด (contents) หมายถึงวัตถุหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่รับรู้ ใช้เป็นสื่อก่อให้เกิดการคิด เนื้อหาแบ่งเป็น 5 ชนิด คือ
  • เนื้อหาที่เป็นภาพ (figural content) หมายถึง ข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ บุคคลสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส
  • เนื้อหาที่เป็นเสียง (auditory content) หมายถึงสิ่งที่อยู่ในรูปของเสียงที่มีความหมาย
  • เนื้อหาที่เป็นสัญลักษณ์(symbolic content) หมายถึงข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่อยู่ในรูปเครื่องหมายต่าง ๆ เช่น ตัวอักษร ตัวเลข รวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ
  • เนื้อหาที่เป็นภาษา (semantic content) หมายถึง ข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่อยู่ในรูปถ้อยคำที่มีความหมายต่าง ๆ กัน สามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้
  • เนื้อหาที่เป็นพฤติกรรม (behavior content) หมายถึงข้อมูลที่เป็นการแสดงออกของมนุษย์ เจตคติ ความต้องการ รวมถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การกระทำที่สามารถสังเกตได้
2) มิติด้านวิธีการคิด (operations) หมายถึงกระบวนการคิดต่างๆ ที่สร้างขึ้น ประกอบด้วยความสามารถ 5 ชนิด ดังนี้
  • การรู้และการเข้าใจ(cognition) เป็นความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ในการรับรู้และทำความเข้าใจ
  • การจำ(memory) เป็นความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ในการเก็บสะสมความรู้และข้อมูลต่าง ๆ และสามารถระลึกได้เมื่อต้องการใช้
  • การคิดแบบอเนกนัย(divergent thinking) เป็นความสามารถในการคิดคล่องและคิดหลากหลาย นั่นคือสามารถที่จะคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ให้ได้ผลของการคิดจำนวนมาก รวดเร็ว ตรงประเด็น หรือหลายรูปแบบ และเป็นความสามารถในการคิดริเริ่ม ซึ่งเป็นการคิดที่มีลักษณะหรือมุมมองใหม่ ๆ
  • การคิดแบบเอกนัย (convergent thinking) เป็นความสามารถในการสรุปคำตอบที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด จากข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่มีหลากหลาย
  • การประเมินค่า(evaluation) เป็นความสามารถทางสติปัญญาในการตัดสินสิ่งที่รับรู้ จำได้ หรือกระบวนการคิดนั้นว่ามีคุณค่า ถูกต้อง เหมาะสม หรือไม่โดยอาศัยเกณฑ์ที่ดีที่สุด
3) มิติด้านผลของการคิด (products) หมายถึงความสามารถที่เกิดจากการผสมผสานมิติด้านเนื้อหาและด้านปฏิบัติการเข้าด้วยกันเป็นผลผลิต เมื่อสมองรับรู้จากสิ่งเร้าทำให้เกิดการคิดในรูปแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งผลที่ได้แบ่งเป็น 6 ชนิดคือ
  • หน่วย (unit) หมายถึงสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากสิ่งอื่นๆ เช่นโต๊ะ ตู้ เสือ เป็นต้น
  • จำพวก(class) หมายถึง ประเภทหรือกลุ่มของหน่วยที่มีลักษณะร่วมกัน เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ คน สุนัข แมว เป็นต้น
  • ความสัมพันธ์(relation) หมายถึง ผลของการเชื่อมโยงความคิดของประเภทหรือหลายประเภทเข้าด้วยกัน เช่น สิงโตคู่กับป่า ปลาคู่กับน้ำ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับที่อยู่อาศัย
  • ระบบ (system) หมายถึง การเชื่อมโยงกลุ่มของสิ่งเร้า โดยอาศัยกฎเกณฑ์หรือแบบแผนบางอย่าง เช่น 2 , 4, 6, 8 เป็นระบบเลขคู่
  • การแปลงรูป (transformation) หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ตีความ ขยายความ ให้นิยามใหม่
  • การประยุกต์ (implications) หมายถึง การคาดคะเน หรือทำนายจากข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่กำหนด
โครงสร้างทางสติปัญญาตามทฤษฎีของกิลฟอร์ดประกอบด้วยหน่วยจุลภาคจากทั้งสามมิติ เท่ากับ 5 x 5 x 6 คือ 150 หน่วย แต่ละหน่วยประกอบด้วย เนื้อหา– ปฏิบัติการ- ผลผลิต (contents – operations – products )
นอกจากนี้กิลฟอร์ดได้อธิบายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking ) โดยเทียบกับโครงสร้างทางสติปัญญาที่กล่าวมาแล้ว และนำมาศึกษาเฉพาะส่วนที่เป็นกระบวนการคิด ด้านการคิดแบบอเนกนัย โดยใช้มิติด้านเนื้อหา และผลผลิต ทำให้ได้หน่วยจุลภาคที่แทนความสามารถ
ด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่ที่ 1 x 5 x 6 ดังภาพที่ 1.5
ภาพที่ 1.5 แสดงสมรรถภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของกิลฟอร์ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น