Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสื่อสาร แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสื่อสาร แสดงบทความทั้งหมด

10 แนวโน้มพลิกโฉมโลกสื่อสาร



10 แนวโน้มพลิกโฉมโลกสื่อสาร เก็บมาฝาก

กระแสความตื่นตัวใช้งาน 'สมาร์ทดีไวซ์' ของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้จุดประเด็นการเข้าถึง 'คอนเทนต์' บนอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย โดยเฉพาะเครือข่าย 3G บางคนมองข้ามช็อตเลยไปถึง 4G ซึ่งเวลานี้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างค่ายเอไอเอส เริ่มนำมาทดสอบการใช้งานในบ้านเราแล้วนั้น ทุกสิ่งอย่างล้วนโฟกัสมายังโลกการสื่อสาร โดยเฉพาะในปี 2555 นี้ มีการตั้งความหวังว่า โฉมหน้าของโลกสื่อสารจะออกมาเป็นอย่างไร

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่ามียอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งโลกมากกว่า 6,000 ล้านคน มีการส่งข้อความรวมกันมากกว่า 6 ล้านล้านครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าเยอะมาก แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ 'อีเมล' เพราะมีการส่งอีเมลบนมือถือมากกว่า 107 ล้านล้านฉบับ ที่น่าเหลือเชื่อยิ่งไปกว่านั้น มีการดูวิดีโอบน 'ยูทูป' มากกว่า 7.3 แสนล้านครั้ง นักวิเคราะห์ประเมินอีกว่า ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะมีสมาร์ทดีไวซ์ที่เชื่อมต่อโลกสื่อสาร ถึงหลักล้านล้าน เครื่อง

นั่นคือภาพรวมทั้งหมด แต่ถ้ามองกลับมาในไทยจะพบว่า มีอัตราการขยายตัวการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ประมาณ 22.8% ขณะที่สมาร์ทโฟนมีการเติบโต 55% โดยมีผู้เข้าชมยูทูปที่คนไทยอัปโหลด 10 อันดับแรกถึง 505 ล้านครั้ง และที่น่าสนใจ คือ คนไทยที่อยู่ในโลกออนไลน์ (อินเทอร์เน็ต) กว่า 75.9% ใช้งาน 'เฟซบุ๊ก' ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

แล้วในปีนี้โลกสื่อสารจะเป็นอย่างไร อะไรที่จะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลที่จะเข้าเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน จากข้อมูลที่ 'โจนาห์ พรานสกี้' ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดแบบเจาะลึก บริษัท แอมด็อคส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำบริการด้านนวัตกรรมเกี่ยวกับจัดการประสบการณ์ลูกค้าในระบบสื่อสารที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายมานาน 30 ปี วิเคราะห์ถึงเมกะเทรนด์ที่จะมีอิทธิพลต่อโลกสื่อสารในช่วงปีนี้ว่า มีด้วยกัน 10 เทรนด์

เริ่มจากเทรนด์แรกที่มองเห็นก็คือ ความคาดหวังของผู้ใช้บริการจะถูกตอบรับผ่านสินค้าและบริการที่บริษัทผู้ผลิตและเจ้าของคอนเทนต์ในรูปแบบของประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา จะเห็นได้จากการใช้สินค้าของค่าย 'แอปเปิล' ไม่ว่าจะเป็นไอแพด ไอโฟน จะได้ประสบการณ์ใช้งานที่ง่ายผ่านผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้ชีวิตง่ายขึ้น ขณะที่ 'กูเกิล' ก็จะได้ประสบการณ์เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ถ้าเป็น 'เฟซบุ๊ก' จะได้ประสบการณ์ในเรื่องคอมมูนิตี้ ผ่านบุคคลที่เชื่อถือได้ และ 'อเมซอน' ก็จะทำให้เกิดประสบการณ์ซื้อหาของได้แทบทุกชนิดบนโลก

เทรนด์ที่สอง คือ การแข่งขันของผู้ให้บริการที่คัดสรรสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจ โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรแทนที่จะทำด้วยตนเองเพื่อขยายฐานลูกค้าไปในตัว โดยแบ่งสิ่งที่ผู้ใช้สนใจออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ ผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ผลิตคอนเทนต์และแอปพลิเคชัน สุดท้าย คือ ผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย โดยรูปแบบของความร่วมมือจะมีความหลากหลาย อย่างกรณีของ 'สไกป์' ในฝั่งผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตที่จับมือกับเฟซบุ๊ก ในกลุ่มเครือข่ายสังคมเพื่อให้บริการสื่อสาร หรือ 'Zynga' ที่เป็นผู้คิดค้นคอนเทนต์ก็ใช้เฟซบุ๊กในการสร้างรายได้ และ 'Netflix' ที่เข้าไปร่วมกับ 'โซนี' ในการให้บริการภาพยนตร์ออนไลน์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อดูดเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค

เทรนด์ที่สาม เครือข่ายสังคมออนไลน์กระตุ้นให้เกิดการติดต่อสื่อสาร จากสถิติของ 'คอมสกอร์' ระบุว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 82% ใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยมีการบันทึกว่าภายใน 1 วินาทีมีการ 'ทวีต' ข้อความถึง 8,868 ครั้ง โดยมีสถิติที่น่าสนใจอีกคือ ผู้คนในโลกออนไลน์ที่มีอายุราว 15-24 ปี ใช้เวลาในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น 34% ขณะที่ใช้อีเมลลดลง 22% และใช้งานสนทนาแบบทันทีทันใดลดลงกว่า 44%

สิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นผู้บริโภคหลักๆ หนีไม่พ้น การโพสต์ข้อความหรือสินค้าใดๆ ในเฟซบุ๊กและได้รับการยอมรับ (Like) จำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็สามารถเข้าไปค้นหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ผ่าน ยูทูปได้ตลอดเวลา มีช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น รวมถึงบริการหลังการขายต่างๆ ที่เชื่อมต่อเข้าสู่โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เทรนด์ที่สี่ ผู้บริโภคเริ่มยอมรับอุปกรณ์พกพาที่เชื่อมโยงเข้าหากัน เห็นได้จากการเติบโตของแท็บเล็ตสูงถึง 256% จำนวนเครื่องเล่นเกมอย่าง Xbox 360 ที่ขายไปมากกว่า 57 ล้านเครื่อง และทีวีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้กว่า 60 ล้านเครื่อง ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ในการสื่อสารในวงกว้างขึ้น

เทรนด์ที่ห้า ความต้องการเข้าถึงข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เมื่อผู้บริโภคต่างมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังโลกออนไลน์ได้ ส่งผลให้อัตราการเข้าถึงข้อมูลก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยคาดว่า จากปี 2554 ไปถึงปี 2558 จะมีค่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของข้อมูลต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 102%

เทรนด์ที่หก ความต้องการบรอดแบนด์จะเป็นแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ โดยเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาตอบสนองคงหนีไม่พ้น LTE หรือ 4G ที่มีกว่า 285 ประเทศทดลองใช้แล้ว ระบบไฟเบอร์ออปติกที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บนปัจจัยที่สำคัญ ก็คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ

เทรนด์ที่เจ็ด อุตสาหกรรมมองหาบริการที่กำลังเติบโต ปัจจุบันการให้บริการเครือข่ายไร้สายถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด แต่เชื่อว่า ในอนาคตการให้บริการเคเบิลและดาวเทียมจะมีอัตราการเติบโตด้านดาต้าที่สูงที่สุด เนื่องจากมีเหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่พร้อมที่จะเข้าไปทำตลาดเมื่อระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในจุดที่เสถียร

เทรนด์ที่แปด สงครามถัดไปจะอยู่ในโทรทัศน์ เมื่อตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่ถึงจุดอิ่มตัว ตลาดต่อไปที่มีศักยภาพคงหนีไม่พ้นโทรทัศน์ เนื่องจากผู้ให้บริการทั้งในส่วนของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ผู้สร้างคอนเทนต์ ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคม ต่างสามารถเข้ามาให้บริการเหล่านี้บนโทรทัศน์ได้ทันที ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าต้องการรับสารประเภทใด

เทรนด์ที่เก้า ระบบชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งแอมด็อคส์เชื่อว่า ในปี 2558 จะเกิดทรานเซ็กชันผ่านโมบายเปย์เมนต์มากกว่า 349 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญคงหนีไม่พ้น NFC ที่เชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการและระบบการจ่ายเงินที่ได้รับการยอมรับ

สุดท้ายคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายจะพยามสร้างจุดต่างสำหรับผู้บริโภค โดยแบ่งเป็นในแง่ของประสบการณ์ผู้บริโภคที่เน้นเจาะเข้าไปถึงพฤติกรรมการใช้งาน และในส่วนของเครือข่ายก็ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพ พร้อมกับคิดค้นบริการใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้

'เออร์วานน์ โธมัสเซน' ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอมด็อคส์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวถึงมุมมองพฤติกรรมผู้บริโภคใน 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2022 ว่า อุปกรณ์ทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้หมด จากเดิมที่ใช้การป้อนข้อมูลผ่านแป้นพิมพ์ (คีย์บอร์ด) แต่ในอนาคตจะเป็นการใช้ 'เซนเซอร์' และ 'มาตรวัด' แทน ขณะเดียวกันผู้คนก็จะมีอายุยืนมากขึ้นจากเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่ก้าวไปพร้อมกับโลกสื่อสาร

เออร์วานน์ ยกตัวอย่างว่า อนาคตกำแพงภายในบ้านจะไม่ได้เป็นแค่กำแพงแต่จะเป็นจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจเช็กตารางนัดหมาย สภาพอากาศ ค้นหาสถานที่จากแผนที่ ระบุพิกัดบุคคลในครอบครัว ช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา

ในส่วนของการทำงาน สามารถร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานได้เสมือนอยู่ในห้องทำงานเดียวกัน หรือแม้แต่เวลาประชุมก็สามารถใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แบบเห็นตัวตน ช่วยให้สามารถประชุมกับบุคคลที่อยู่ในทุกมุมโลกได้ทันที

จุดสุดท้ายที่น่าสนใจคือด้านการแพทย์ เมื่อการติดต่อสื่อสารก้าวหน้ามากขึ้นทำให้คนไข้ สามารถได้รับการรักษาจากหมอที่เก่งในแต่ละด้าน แม้ว่าจะอยู่คนละมุมโลกกัน เพราะข้อมูลคนไข้ ประวัติการรักษา ผลฟิลม์เอ็กซเรย์ ก็สามารถส่งข้อมูลผ่านออนไลน์ ไปให้ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ และในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีกำลังกำหนดไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค อยู่ที่เราจะเลือกใช้และรับมือกับมันอย่างไรเพื่อให้ไม่ต้องตกเป็นทาสเทคโนโลยีเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นและไม่ใช่เป็นการบริโภคโดยฟุ่มเฟือยเกินพอ

แหล่งที่มา. ขอขอบคุณ หนังสื่อพิมพ์ ผู้จัดการ online โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2555