Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วางกลยุทธ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วางกลยุทธ์ แสดงบทความทั้งหมด

จะวางกลยุทธ์อย่างไรให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้

จากปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ธุรกิจจึงได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามการแข่งขันในด้านต่าง ๆ Micheal E. Porter ได้เสนอกลยุทธ์หลักสำหรับการแข่งขันทางการตลาด เพื่อให้ธุรกิจต่อสู้กับภัยคุกคามจากการแข่งขันได้ มี 3 ประการคือ
 1. กลยุทธ์สร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation Strategy) คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน หรือมีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) มากกว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างเหนือคู่แข่งขันถือเป็นการสร้างจุดเด่น (Unique) ให้ผลิตภัณฑ์เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่งขัน ในปัจจุบันวิธีการนี้การสร้างความแตกต่างด้านกายภาพให้ผลิตภัณฑ์ (Physical Differentiation) ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถตามกันทันได้ในเวลาที่รวดเร็ว ดังนั้นธุรกิจควรมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญา เช่น ยาไวอาก้าที่มีการจดสิทธิบัตร หรือรูปทรงของรถยนต์โฟกสวาเก้นที่มีการจดสิทธิบัตรไว้ เป็นต้น
 2. กลยุทธ์การตลาดต้นทุนต่ำ (Low Cost Marketing Strategy) คือ การควบคุมต้นทุนทางการผลิตให้ต่ำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าหรือบริการได้ในราคาถูกกว่าคู่แข่งขัน กลยุทธ์นี้ธุรกิจจะทำการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่เหมือนคู่แข่งขัน แต่ธุรกิจต้องสามารถหาวิธีลดต้นทุนทางการผลิตให้ได้ต่ำกว่าคู่แข่งขัน โดยการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน โดยการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Economy of Scale) หรืออาจไปตั้งโรงงานในเขตที่มีค่าแรงงานต่ำ เพื่อให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าคู่แข่งขัน ธุรกิจก็จะได้เปรียบคู่แข่งขัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนยี่ห้อไฮเออร์ที่มีต้นทุนต่ำและขายในราคาถูก หรือธุรกิจเสื้อผ้าก็จะใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automatic Machine) มาช่วยในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมากและต้นทุนต่ำลง
 ในธุรกิจค้าปลีกจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้มี Discount Store และ Super Store ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดต้นทุนต่ำ เพื่อสามารถขายสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาถูก แต่ลดบริการบางอย่าง เช่น ไม่มีบริการห่อของขวัญ ไม่มีถุงสำหรับใส่สินค้า มีพนักงานให้บริการน้อย และไม่ใช้งบโฆษณา เพื่อทำให้ต้นทุนทางการตลาดต่ำลง ทำให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าได้ถูกกว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วไป
 3. กลยุทธ์ตลาดย่อย (Niche Marketing Strategy) สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและมีเงินทุนจำกัด ไม่สามารถทำการผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อให้มีต้นทุนต่ำ หรือลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน ธุรกิจขนาดเล็กอาจต้องเลือกตลาดย่อย และเจาะจงตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ แต่มีลูกค้า (หรือ Demand) ที่มากเพียงพอที่จะทำธุรกิจมียอดขายและมีกำไรได้ กลยุทธ์ตลาดย่อยเหมาะสำหรับเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น
 • ธุรกิจบริการเฉพาะด้าน เช่น คลินิกรักษาผิว รักษาสิว ลดความอ้วน ทัวร์สุขภาพ บริการดูแลเด็กเล็ก หรือคนชรา เป็นต้น
 • ธุรกิจบริการเฉพาะเขต เช่น ร้านค้าปลีกสะดวกซื้อที่ขายเฉพาะคนในเขตนั้น เป็นต้น
 • ธุรกิจผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ผลิตเสื้อสำหรับคนอ้วน คนสูง คนท้อง เสื้อผ้าสำหรับสุนัข อาหารแคลอรี่ต่ำ นิตยสารสำหรับผู้ที่สนใจกีฬาเทนนิส ว่ายน้ำ หรือกอล์ฟ
 สำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่ การศึกษากลยุทธ์หลักที่ Michael E. Porter กล่าวถึง จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ธุรกิจใหม่สามารถแข่งขันและมีกำไรได้
 • ถ้าธุรกิจใหม่สามารถสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ ธุรกิจนี้จะเป็นผู้นำในด้านผลิตภัณฑ์
 • ถ้าธุรกิจสามารถลดต้นทุนได้ต่ำ ธุรกิจนี้จะเป็นผู้นำด้านราคาต่ำ
 • ถ้าธุรกิจมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและกำลังคน ธุรกิจนี้ควรเลือกตลาด Niche หรือตลาดย่อยเพื่อลดการแข่งขันจากคู่แข่งขันรายใหญ่
 แนวคิดกลยุทธ์หลักของ Michael E. Porter ช่วยให้ธุรกิจสามารถลดภัยคุกคามจากการแข่งขันได้ แม้จะไม่ทั้งหมดแต่จะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาด และมีกำไร
 แต่จากสภาพปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจสูงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะเลือกใช้กลยุทธ์หลักเพียงกลยุทธ์เดียว Philip Kotler ได้กล่าวเสริมกลยุทธ์หลักของ Michael E. Porter ว่า สำหรับธุรกิจขนาดเล็กควรใช้กลยุทธ์ Niche แต่ธุรกิจต้องสร้างผลิตภัณฑ์ และธุรกิจที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งขันด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภัณฑ์หรือราคา เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
 ดังนั้น การตลาดในปัจจุบันธุรกิจต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เจาะจงมากขึ้น ธุรกิจใดสามารถมองเห็นความแตกต่างของบุคคล และสามารถพัฒนาในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ก่อน ธุรกิจนั้นย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก หรืออาจเรียกว่า การตลาดสมัยใหม่ควรเป็นการตลาดที่มุ่งสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) และนำเสนอให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งจะเห็นได้จากความสำเร็จของบริษัท Dell Computer ที่ให้ผู้บริโภคให้ข้อมูลความต้องการ และช่วยออกแบบคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด


http://www.learners.in.th/blogs/posts/44996