Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บุคลิกภาพ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บุคลิกภาพ แสดงบทความทั้งหมด

7 เสน่ห์ทำให้คนรัก


  1. รู้จักทักทายสนทนาด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี
  2. เป็นตัวของตัวเอง
  3. รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
  4. รอยยิ้ม
  5. รู้ักใช้ชีวิตคิดบวก
  6. บุคลิกภาพดี
  7. หาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมเสมอ

บุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ ของแต่ละคนจะเป็นสิ่งประจำตัวของคนคนนั้น ที่ทำให้แตกต่างจาก คนอื่น และมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะประกอบกัน ทำให้คนแต่ละคนมี บุคลิกภาพ เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจาก การทำงานประสานกันของ สมอง ที่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และประสบการณ์ ที่ได้รับจาก สิ่งแวดล้อม
บุคลิกภาพ มีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างยิ่ง ทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่าขณะนี้ตัวเราเป็นคนอย่างไร และเราจะไม่มีทางเข้าใจว่าขณะนี้เราเป็นคนอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเราควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด เราจะต้องค้นพบตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง

คำว่า “บุคลิกภาพ” (personality) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กันดังต่อไปนี้
เออร์เนส อาร์.ฮิลการ์ด (Hilgard 1962:447) กล่าวว่า บุคลิกภาพ เป็นลักษณะส่วนรวมของบุคคล และการแสดงออกของพฤติกรรม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็น ปัจเจกบุคคล ในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลักษณะที่ส่งผลสู่การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้แก่ ความรู้สึกนับถือตนเอง ความสามารถ แรงจูงใจ ปฏิกิริยาในการเกิดอารมณ์ และลักษณะนิสัยที่สะสมจากประสบการณ์ชีวิต
ฟิลลิป จี.ซิมบาร์โด และฟลอยด์ แอล.รูช (Zimbardo and Ruch 1980:292) อธิบายว่า บุคลิกภาพ เป็นผลรวมของลักษณะ เชิงจิตวิทยาของบุคคลแต่ละคน มีผลต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหลากหลายของบุคคลนั้น ทั้งส่วนที่เป็นลักษณะภายนอก ที่สังเกตได้ง่ายและพฤติกรรมภายในที่สังเกตได้ยาก ลักษณะที่หลากหลายดังกล่าว ส่งผลให้บุคคลแสดงออก ต่างกันใน แต่ละสถานการณ์และช่วงเวลา
ริชาร์ด ซี.บุทซิน และคณะ (Bootzin and others 1991:502) ให้ความหมายว่า บุคลิกภาพ เป็นลักษณะนิสัยและรูปแบบของความคิด ความรู้สึก และการประพฤติปฏิบัติของบุคคลแต่ละคน
อัลชลี แจ่มเจริญ (2530:163) ให้ความหมายว่า บุคลิกภาพ หมายถึงลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งหมด ที่แสดงออกมาปรากฎ ให้คนอื่นได้รู้ได้เห็น ซึ่งแตกต่างกันเพราะภาวะสิ่งแวดล้อมที่สร้างตัวบุคคลนั้นแตกต่างกันประการ หนึ่ง และพันธุกรรม ที่แต่ละบุคคล ได้มาก็แตกต่างกัน ไปอีกประการหนึ่ง
จากคำจำกัดความและความหมายของ “บุคลิกภาพ” ที่กล่าวมา สรุปได้ว่า บุคลิกภาพ คือตัวบุคคลโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะทางกาย ซึ่งสังเกตได้ง่าย อันได้แก่รูปร่างหน้าตากิริยาท่าทาง น้ำเสียง คำพูด ความสามารถทางสมอง ทักษะการทำกิจกรรมต่างๆ และลักษณะทางจิต ซึ่งสังเกตได้ค่อนข้างยาก ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ ความมุ่งหวัง อุดมคติ เป้าหมาย และความสามารถในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน ส่งผลสู่ความสามารถในการปรับตัว ต่อสิ่งแวดล้อม และความแตกต่างระหว่างบุคคล
จากความหมายของ บุคลิกภาพ ดังกล่าว เมื่อนำมาวิเคราะห์ให้สัมพันธ์กับงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินงาน ทั้งด้านการบริหาร การผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ โดยพิจารณา บุคลิกภาพ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน จะพบว่าทุกลักษณะของ บุคลิกภาพ มีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงาน โดยมีอิทธิพลมากบ้างน้อยบ้าง จึงอาจให้ความหมายของ บุคลิกภาพ เชิงอุตสาหกรรมได้ว่า เป็นลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดผลดีต่อการดำเนินงานอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของการบริหาร การผลิต การจำหน่าย และการให้บริการในงานอุตสาหกรรม
ทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวกับ บุคลิกภาพ อาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และ ความสามารถในการรู้ตัวเอง (Self Awareness) ถือเป็น ความฉลาด อย่างหนึ่ง เพราะการที่เราจะ รู้ตัวเอง หรือ รู้พฤติกรรมของเราเอง ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่า เรามองตัวเราอย่างไร เมื่อเทียบกับ สิ่งแวดล้อมในโลกนี้ และเราจะ ควบคุมพฤติกรรม ของเราได้อย่างไร ซึ่งความสามารถ ที่จะจัดการและ ควบคุมชีวิต เรานี้ เป็นความสามารถที่เรียกว่า ประสิทธิภาพส่วนบุคคล (Self Efficacy)
คนที่มีประสิทธิภาพ ส่วนบุคคลสูง จะมีความมั่นใจใน การมีพฤติกรรมโต้ตอบที่ถูกต้อง แต่คนที่มีประสิทธิภาพในตัวเองต่ำ จะมีความกระวนกระวาย มีความกังวลเมื่อจะต้องมีการโต้ตอบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของคนคนนั้น ความรู้ตัวและประสิทธิภาพส่วนตัวน ี้เองจะรวมกันเป็น บุคลิกภาพ ขึ้น
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมาก ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า "อีโก้ (Ego)" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ บุคลิกภาพ ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับอำนาจภายในร่างกาย หรือความต้องการ ความปรารถนาของคนคนนั้น ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว (id) กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความจริงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก จริยธรรม ความเป็นเหตุเป็นผล (superego) และเมื่อมีการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัย 2 ปัจจัยนี้แล้วก็จะเกิดการตัดสินใจขึ้น
คำถามคือ บุคลิกภาพ เกิดจากอะไร มาจากไหน นักทำนาย บุคลิกภาพ ฟรานซ์ โจเซฟ กอลล์ (Franze Joseph Gall) ได้ให้ทฤษฎีว่า รอยหยักบนพื้นผิวสมองนั่นเองเป็นตัวกำหนด บุคลิกภาพ เพราะส่วนนี้ทำให้เราตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม มีผลต่อวิธีคิด ความรู้สึกและการกระทำของเรา

1 ความหมายและกฎเกณฑ์ของพัฒนาการ

1.1 พัฒนาการ (Development)
คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามวัยของมนุษย์ ที่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะบันไดวนไม่สิ้นสุด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนตาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาต่าง ๆ โดยทั่วไป
การกล่าวถึง พัฒนาการมนุษย์นั้น จะเน้นที่การศึกษาถึง การเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และศักยภาพต่าง ๆ ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก การผสมผสาน ระหว่างการเจริญเติบโตไปสู่การมี วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้
1.2 วุฒิภาวะ (Maturation)
วุฒิภาวะ คือ กระบวนการของการเจริญเติบโต หรือการเปลี่ยนแปลงในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติ อย่างมีระบบระเบียบ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าภายนอก ตัวอย่างเช่นความพร้อมของกล้ามเนื้อ การทำงานของต่อมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรม ขึ้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ๆ
พัฒนาการชีวิตมนุษย์ส่วนหนึ่งขึ้นกับ วุฒิภาวะ พฤติกรรมพื้นฐานของชีวิต เช่น การนั่ง เดิน คลาน การเปล่งเสียงอ้อแอ้ เป็นวุฒิภาวะทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนมักจะต้องใช้การเรียนรู้ หรือการฝึกฝนร่วมด้วย เช่น การพูดด้วยภาษาที่สละสลวย หรือการฝึกขี่จักรยาน การฝึกขับรถ เป็นต้น
ตัวอย่างการศึกษาวุฒิภาวะ ที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง คือการศึกษาเด็กชนเผ่า โฮปิ (Hopi) โดย Dennis (1940) ซึ่งเด็กชนเผ่านี้ ถูกเลี้ยง โดยการผูกติดกับไม้กระดานทั้งวัน ตั้งแต่อายุประมาณ 7 เดือน โดยไม่ได้มีการฝึกนั่ง คลาน หรือเดินเลย แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อปล่อยเด็กจากไม้กระดาน และได้รับการฝึกให้ นั่ง คลาน หรือ เดิน ทั้งนี้มีข้อเปรียบเทียบ พบว่า เด็กเผ่านี้เดินได้หลังจากเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่เด็กอัฟริกันเดินได้ก่อนเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน
Dennis สรุปว่าการที่เด็กโฮปิ เดินได้โดยไม่ต้องฝึกฝน และเด็กชนชาติอื่น ๆ เดินได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นผลมาจาก วุฒิภาวะ ของเด็กนั่นเอง
1.3 การเรียนรู้ (Learning)
การเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ของมนุษย์ พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัย การเรียนรู้มาก และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ เป็นผลมาจาก การเรียนรู้มากกว่าวุฒิภาวะ
อย่างไรก็ตามทั้ง วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้ ต่างก็มีความจำเป็นต่อพัฒนาการทั้งสิ้น การเรียนรู้ต่างๆ จะดำเนินไปไม่ได้ หรือไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ถ้ายังไม่ถึงวุฒิภาวะ แต่ถ้าถึงวุฒิภาวะของเด็กแล้วจะทำให้การเรียนรู้นั้นๆ จะได้ผลยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นการเรียนภาษา พบว่าการที่ให้เด็กเรียน ภาษาที่สอง ตั้งแต่การใช้ภาษาแรกของเด็ก ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอนั้น ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่หากถึงวุฒิภาวะแล้ว ไม่มีการฝึกหัด หรือได้เรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้วค่อยไปฝึกหัดในภายหลัง ก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่นการฝึกว่ายน้ำ ถีบจักรยาน หรือฝึกใช้ กล้ามเนื้อ ตอนโตมากแล้ว อาจไม่ได้ผลดีเท่าตอนเป็นเด็ก การเรียนรู้ใด ๆ จะได้ผลดียิ่งขึ้น จึงต้องให้เด็กมีวุฒิภาวะ หรือความพร้อม เสียก่อน จะทำให้การเรียนรู้นั้น ๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น
1.4 กฎเกณฑ์ของพัฒนาการมนุษย
พัฒนาการมนุษย์ โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายคลึงกันซึ่งเป็นไปตามแบบแผนและกฎเกณฑ์พอที่จะสรุปได้ดังนี้
  1. พัฒนาการเกิดขึ้นอย่างมีทิศทาง (Development is Directional) พัฒนาการเกิดขึ้น อย่างมี ระเบียบแบบแผน มีทิศทางจาก ไม่ซับซ้อนไปสู่ ที่ซับซ้อนกว่า จากทารกพัฒนาไปสู่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ในที่สุด พัฒนาจากศีรษะ ไปปลายเท้า และจาก แกนกลางของลำตัวไปสู่ส่วนย่อยดังจะเห็นว่าเด็กจะสามารถชันคอได้ก่อน และสามารถเคลื่อนไหวลำตัวก่อนมือและนิ้ว
  2. การใช้ส่วนย่อยและการรวมกันของส่วนย่อยเป็นกิจกรรมใหม่ขึ้นมา (Development is Cummulative) ในการพัฒนาการของมนุษย์จะพัฒนาจากขั้นแรกก่อนแล้วรวมเป็นกิจกรรมขั้นต่อไป เช่น คืบก่อนคลาน นั่งก่อนยืน และยืนก่อนเดิน เป็นต้น
  3. พัฒนาการเป็นสิ่งต่อเนื่องกัน (Development is Continuous) หมายถึงพัฒนาการเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลาค่อย ๆ เปลี่ยน ตัวอย่างเช่น การพูดพัฒนามาจากการเปล่งเสียงอ้อแอ้ การงอกของฟัน งอกมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แต่ปรากฏชัดเจนตอนอายุประมาณ 6 เดือน การใช้ชีวิตในวัยหนุ่มสาวส่งผลต่อสุขภาพในวัยชรา เป็นต้น
  4. พัฒนาการของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนโตเร็ว บางคนโตช้า บางคนพูดเร็ว บางคนอาจเดินได้เร็ว เป็นต้น
  5. พัฒนาการในแต่ละส่วนของร่างกายของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน เด็กคนหนึ่งอาจเติบโตเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก จากนั้นจะลดลงและเจริญเติบโตอีกครั้งหนึ่งในช่วงวัยรุ่นแล้วจะเติบโตช้าจน ถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา
  6. พัฒนาการมีลักษณะเป็นองค์รวม (Development is Holistic) พัฒนาการไม่ได้เป็นไปอย่างแยกส่วน แต่จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และผลของพัฒนาการก็จะเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของด้านต่าง ๆ ร่วมกัน
บุคลิกภาพ (Personality) ความหมายของบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Personality มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Persona ( Per + Sonare) ซึ่งหมายถึง Mask ที่แปลว่า หน้ากากที่ตัวละคร ใช้สวมใส่ใน การเล่นเป็น บทบาทแตกต่างกันไปตามที่ได้รับ
ออลพอร์ต (Allport 1955) บุคลิกภาพ หมายถึง การจัดและรวบรวมเกี่ยวกับระบบทางร่างกายและจิตใจภายในตัวของแต่ละบุคคล แต่จะมีการเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ ยังผลให้แต่ละคนมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร
ฮิลการ์ด (Hilgard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ลักษณะส่วนรวมของบุคคล แต่ละคนอันเป็นแนวทาง ในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบของ การแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ กัน
เบอร์นาร์ด (Bernard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของท่าทางรูปร่างลักษณะทางกาย พฤติกรรมที่แสดงออก แนวโน้มการกระทำ ขอบเขตความสามารถทั้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและที่แสดงออกมาให้เห็น
ฮาร์ดแมน (Hartman) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดที่บุคคลแสดงออกโดยกริยาอาการ ความนึกคิด อารมณ์ นิสัยใจคอ ความสนใจ การติดต่อกับผู้อื่น ตลอดจนรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และความสามารถในการอยู่รวมกับบุคคลอื่น
โดยสรุป บุคลิกภาพ หมายถึง คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล แสดงออกโดยพฤติกรรม ที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และพฤติกรรมนี้จะคงเส้นคงวาพอสมควร ลักษณะของแบบแผนพฤติกรรมและแบบแผนการคิด ที่เป็นตัวกำหนด ลักษณะเฉพาะของบุคคล ในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันไปทุกอย่าง แม้กระทั่งพี่น้อง หรือฝาแฝดก็ตาม ทั้งนี้เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความพิเศษและความเป็นหนึ่งในตัวของแต่ละคน (unique)

โดยทั่วไปบุคลิกภาพของมนุษย์จะแสดงลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ในด้านต่อไปนี้
1. ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตน (Individuality) ลักษณะที่ทำให้คนนั้นแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ เช่น พูดจาโผงผาง, โอบอ้อมอารี หรือรักสนุก ฯลฯ
2. ความคงเส้นคงวา (Consistency) ของพฤติกรรม เป็นแนวโน้มที่บุคคลมักแสดงพฤติกรรม ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทุกครั้งหรือบ่อยครั้ง เช่น บางคนเวลาโกรธจะเงียบไม่ยอมพูดจา หรือบางคนโกรธแล้วชอบกระทืบเท้า เป็นต้น

นักทฤษฎีและทฤษฎี : บุคลิกภาพคืออะไร

ฮิปโปเครตีส ,ชาวกรีก, ศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสต์ศักราช
บุคลิกภาพมี 4 แบบคือ ฉุนเฉียว (อารมณ์ร้อน) รื่นเริง (มั่นใจ) เศร้าสร้อย (อารมณ์แปรปรวน) และเฉื่อยเนือย (ตอบสนองช้า) อารมณ์เหล่านี้เกิดจากธาตุน้ำในร่างกายของเราตามลำดับคือ น้ำเหลือง เลือด น้ำดีดำ และเสมหะ
ซิกมันด์ ฟรอยด์, ชาวออสเตรีย, 1856-1939
บุคลิกภาพเกิดจากพลัง 3 อย่าง ได้แก่ อิด (id) ส่วนของสัญชาติญาณที่อยู่ใน จิตใต้สำนึก ซูเปอร์อีโก้ (superego) ส่วนของวัฒนธรรมที่ดีงาม และส่วนยับยั้งชั่งใจ และอีโก้ (ego) ส่วนของ”ตัวฉัน” ซึ่งจะประสานอิดกับซูเปอร์อีโก้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว พลังทั้งสามนี้ จะขัดแย้งกันตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ได้รับการตอบสนอง ด้านความหิวอย่างเต็มที่ อิดจะกระตุ้น ความปรารถนาทางเพศ และ ความก้าวร้าว ทฤษฏีนี้เชื่อว่า เด็กเล็กมีความรู้สึกทางเพศกับพ่อแม่ ที่มีเพศตรงข้ามกับตน ขณะเดียวกันก็เกลียด และ กลัวพ่อหรือแม่ เพศเดียวกับตน เด็กชายที่ไม่สามารถหาทางออกให้พลังนี้อย่างถูกต้องอาจเป็นทุกข์จากปมอิดิปุ ส (จากอีดีปุสวีรบุรุษในตำนานกรีก ซึ่งได้สังหารบิดา และแต่งานกับมารดาโดยไม่รู้มาก่อน) เด็กผู้หญิงที่มีปัญหานี้อาจเกิดจากปมอิเล็กตรา (เรื่องจากตำนานกรีก เมื่อกษัตริย์อากาเมมนอนผู้เป็นพระบิดาถูกมเหสีที่นอกพระทัยปลงพระชนม์ อิเล็กตราก็แก้แค้น โดยชักนำเชษฐาให้สังหารพระมารดา)
อัลเฟรด แอดเลอร์, ชาวออสเตรีย, 1870-1937
บุคลิกภาพคือการดิ้นรนแสวงหาปมเด่น ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการตอบสนองต่อสิ่งเร้า พื้นฐานที่อยู่ในจิตใต้สำนึกตามทฤษฎีของฟรอยด์ แอดเลอร์เชื่อว่าบุคคลที่ไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกต่ำต้อยในวัยเด็กจะกลาย เป็นคนมีปมด้อย ส่วนผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะจะชดเชยปมด้อยของตนด้วยการทำสิ่งที่ดีงามมากกว่า การแสวงหาอำนาจส่วนตน
คาร์ล กุสตาฟ จุง, ชาวสวิส, 1875-1961
บุคลิกภาพไม่ได้ถูกกำหนด มาตั้งแต่วัยเด็กอย่างที่ฟรอยด์คิด แต่เปลี่ยนแปลงได้ ตลอดชีวิต จิตใต้สำนึก ไม่ได้ถูกครอบงำด้วย แรงปรารถนาทางเพศ เท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยปมต่าง ๆ หรือกลุ่มของความทรงจำและความนึกคิด ซึ่งเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เราพยายาม จะผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นบุคลิกเฉพาะของตัวเอง จิตใต้สำนึก นั้นไม่ได้หมายถึง ความทรงจำของเราอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมของมนุษยชาติ ซึ่งหมายถึง “จิตใต้สำนึกอันเป็นจิตวิญญาณในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างทางสมองของแต่ละบุคคล” บุคลิกภาพของคนเราอาจแบ่งได้เป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ บุคลิกภาพแบบเก็บตัว และ แบบชอบสังคม
คาเรน ฮอร์เนย์ ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน, 1885-1952
บุคลิกภาพพื้นฐานหล่อหลอมมาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าแรงขับ ทางชีวภาพตามแนวคิดของฟรอยด์ ความสับสนทางบุคลิกภาพ มีสาเหตุมาจาก การที่คนคนนั้น ใช้ชีวิตโดยมี ความวิตกกังวลเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีต้นตอมาจาก “ความรู้สึกถูกทอดทิ้ง และ ช่วยตัวเองไม่ได้ ในโลกที่ไร้ความปรานีในช่วงวัยเด็ก”
กอร์ดอน อัลพอร์ต, ชาวอเมริกัน, 1897-1967
บุคลิกภาพเกิดจาก การผสมผสานนิสัยต่าง ๆ ของบุคคล อัลพอร์ตได้รวบรวม คำศัพท์อังกฤษซึ่ง อธิบายลักษณะนิสัยไว้มากถึง 18,000 คำ
อีริค เอช, อีริคสัน, ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน, 1902-1994
บุคลิกภาพ เป็นผลจากการพัฒนาการของชีวิตทั้งหมด 8 ช่วงวัยตั้งแต่วัยทารกจน ถึงวัยชรา โดยบุคคลจะมีข้อขัดแย้งประจำวัย และหาทางแก้ไขไปใน แต่ละช่วงวัย วิธีแก้ข้อขัดแย้งของแต่ละคนจะกำหนดบุคลิกภาพของคนคนนั้น ตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้ง ประจำวันของวัยรุ่นคือ “ฉันคือใคร” (วิกฤตการณ์เอกลักษณ์หรือการแสวงหาตนเอง ถ้าแก้ข้อขัดแย้งนี้ได้ จะทำให้เขาค้นพบ เอกลักษณ์ของตัวเอง)
บี. เอฟ. สกินเนอร์, ชาวอเมริกัน, 1904-1990
บุคลิกภาพเป็นผลของพลังงานภายนอกที่สามารถประเมินได้ ดังนั้น วิธีการที่เรา คิดและกระทำ จึงเปลี่ยนแปลงไป ตามสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุม ในหนังสือชื่อ Walden Two สกินเนอร์ฝันถึงดินแดนในอุดมคติ ที่ซึ่ง บุคลิกภาพ ได้รับการหล่อหลอมมาจาก การส่งเสริมพฤติกรรม ที่พึงปรารถนาอย่างเป็นระบบ
อับราฮัม เอช. มาสโลว์, ชาวอเมริกัน, 1908-1970
เรา “มีเจตจำนงที่จะมีสุขภาพดี มีแรงกระตุ้นที่จะเติบโตหรือทำให้ศักยภาพของ เราเป็นจริงขึ้นมา” เราบรรลุศักยภาพเต็มเปี่ยมของเราได้ด้วยการรู้จักตัวตนของเรา ซึ่งรวมถึง ประสบการณ์ปิติสุขอันยากจะอธิบาย
personality

องค์ประกอบของบุคลิกภาพของบุคคล

บุคลิกภาพของบุคคลประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
  1. ด้านกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตา ทรวดทรง ท่าทาง การแต่งกาย การเดิน เป็นต้น บุคลิกภาพ
    ด้านกายภาพ นี้เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นได้
  2. ด้านวาจา หมายถึง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง ซึ่งผู้อื่นจะรับรู้ได้โดยการฟัง ลักษณะต่าง ๆ สะท้อน บุคลิกภาพด้านนี้เช่น การพูดไม่เข้าหูคน การพูดจากระโชกโฮกฮาก การพูดจาน่าฟัง เป็นต้น บุคลิกภาพทางวาจาที่ดีย่อมหมายถึงการพูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟังเป็นมิตร และได้สาระ
  3. ด้านสติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางการคิดแก้ปัญหา ไหวพริบ ความสามารถที่จะมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้อย่างเหมาะสม คิดเป็น รู้จักคิด คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แสดงออกหรือสนองตอบผู้อื่นได้อย่าง “ทันกัน” และ “ทันกาล”
  4. ด้านอารมณ์ หมายถึง การมีอารมณ์ดี คงเส้นคงวา ไม่วู่วาม เอาแต่อารมณ์ ฉุนเฉียวโกรธง่าย หรือบางคนมีอารมณ์ร่าเริง มากกว่าอารมณ์อื่น หรือบางคน เครียด เศร้า ขุ่นมัว หม่นหมองอยู่เสมอ
  5. ด้านความสนใจและเจตคติ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปบางคนไม่สนใจการเมือง ซึ่งบางคนมีความสนใจ หลากหลายไม่สนใจเพียง เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
  6. ด้านการปรับตัว มีผลต่อลักษณะของบุคลิกภาพ ถ้าใช้แบบที่ดีมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สังคม ยอมรับ จะอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามถ้าปรับตัวไม่ดีวางตัวในสังคมไม่เหมาะสม ย่อมมี ผลเสียต่อบุคลิกภาพด้านอื่น ๆ ไปด้วย
อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพ
ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กย่อมมี การถ่ายทอดลักษณะ และมาตรฐานต่าง ๆ ในสังคมให้แก่เด็ก โดยกระบวนการเสริมแรงและ การเรียนรู้โดยการเลียนแบบ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมการแสดงออกต่าง ๆ ของบิดามารดาหรือผู้ที่เลี้ยงดู มากกว่าที่จะทำตามคำสอน ดังนั้น ทัศนคติและการเป็นตัวแบบของบิดามารดาตลอดจนการถือตนตามแบบของเด็ก มีผลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง (สุภาพรรณ โคตรจรัส, 2542) หากพ่อแม่มีการอบรมสั่งสอนที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กมีความสับสน ไม่เข้าใจ และไม่สามารถพัฒนา ตัวแบบ (Image) ให้เกิดขึ้นในใจตนเองได้
สมคิด อิสระวัฒน์ (2542) พบว่าการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่เลี้ยงดูแบบให้ความรัก ความใกล้ชิด ความอบอุ่น สอนให้เป็นคนที่มีเหตุผล ฝึกลูกให้ช่วยตนเอง ให้ตัดสินใจเอง โดยพ่อแม่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือที่ปรึกษานั้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาลักษณะการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ในทำนองเดียวกัน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยท่าที หรือ เจตคติ (attitude) ไม่รักหรือรังเกียจ (Rejection) และการรักและปกป้องคุ้มครองเด็กมากเกินไป ( Overprotection) นั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ที่แตกต่างกัน เช่น
1. การเลี้ยงดูที่ทอดทิ้ง กระทำทารุณ หรือประนามอย่างไม่สมควร หรือเข้มงวด ดุ ลงโทษเสมอ ๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก จะเป็นคนขี้กลัว กังวล มีปมด้อยยอมให้คนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรักที่ไม่เคยได้รับ หรือมีพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามคือ ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตรต่อบุคคลอื่น และไม่ยอมลงให้ใครเมื่อโตขึ้น
2. แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพี่น้อง เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก มักจะกังวล อารมณ์หวั่นไหวสมาธิเสื่อม เป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชังคนอื่น
3. แสดงความห่วงใย และตามใจเกินขอบเขต วุ่นวาย ปรนนิบัติ คอยระมัดระวังเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รับผิดชอบตนเองเท่าที่ควร บุคลิกภาพไม่เจริญสมวัยหรือมีวุฒิภาวะต่ำ
4. แสดงความโอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไปอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนเปราะ ไม่มีความอดทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิต โรคประสาทได้พอ ๆ กับเด็กที่ขาดความรัก
พวงทอง นิลยิ้ม (2537) พบว่า ผู้ใหญ่ในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการให้การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และ ถ่ายทอดวัฒนธรรม ให้กับลูกหลาน ของตนเอง โดยมี การเล่นและของเล่นของเด็กเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการถ่ายทอด ได้รับการปลูกฝังจนพัฒนาเป็นบุคลิกภาพของเด็ก คือ ความสนุกสนานร่าเริง ความสัมพันธ์กับผู้อื่นความมีเมตตา การแข่งขันตาม กติกาของสังคม และ ความขยันอดทน
การอบรมเลี้ยงดู นั้น พ่อแม่ และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความสำคัญในการปลูกฝังบุคลิกลักษณะต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ตามแบบแผนของพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือปฎิสัมพันธ์ (Interaction) กับคนและสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์แรกที่เด็กสังเกตและรับไว้จะมาจากครอบครัว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นความเชื่อ ทัศนคติและบุคลิกภาพ
ซิมมอนด์ (อ้างในศิริพร หลิมศิริวงค์ 2511: 25) ศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคคลิกภาพของเด็ก พบว่า
1. พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลย จะทำให้บุตรมีลักษณะเป็นคนก้าวร้าว เจ้าคิดเจ้าแค้น ชอบพูดปด หนีโรงเรียน ลักเล็กขโมยน้อย
2. พ่อแม่ที่ประคบประหงมบุตร จนเกินไป บุตรจะมีลักษณะเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง
3. พ่อแม่ที่มีอำนาจเหนือบุตร บุตรจะเป็นคนเจ้าระเบียบ สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาท สามารถปรับตัวเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี สงบเสงี่ยม ขาดความริเริ่ม
4. พ่อแม่ที่ยอมจำนนต่อบุตร บุตรจะขาดความรับผิดชอบ ไม่อยู่ในโอวาท เห็นแก่ตัว ดื้อดึง มักทำอะไรตามชอบใจ
ในสังคมไทยนั้นมีความแตกต่างกันตามขั้นทางสังคมของบุคคล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ลักษณะ (รัชนีกร เศรษโฐ, 2523:137 - 139) คือ
1. ครอบครัวชาวไร่ชาวนา การอบรมเลี้ยงดูไม่มีพิธีรีตรองพิถีพิถันเท่าไร ทำตามความสะดวกและตามใจเด็ก คือเมื่อเด็กร้องก็จะตอบสนอง และเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น การหย่านม ถ้าเป็นลูกคนเดียวก็จะดูดนมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีน้อง การอบรมกริยามารยาทและความรอบรู้มักสอนตามวัฒนธรรม โดยให้ความรู้โดยตรง และอยู่ในวงจำกัดของสังคม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ทัศนคติและค่านิยม
2. ครอบครัวเจ้านายผู้ดีเก่า การอบรมสั่งสอน จะเข้มงวดพิถีพิถัน โดยเฉพาะกริยามารยาทของผู้ดี
การให้การศึกษาก็มักจะให้กับลูกชายเพื่อสืบตระกูลมีความทนุถนอมเด็กมาก ถ้าเป็นหญิงมักจะถูกเก็บไว้ให้อยู่แต่ในบ้าน การศึกษาก็ได้รับน้อยกว่าชาย ส่วนมากจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับการบ้าน การเรือน
3. ครอบครัวชั้นกลาง ครอบครัวในระดับนี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของครัวไทยสมัยใหม่
การอบรมมักจะเน้นเรื่องความสามารถทางการศึกษาและการทำงานของเด็ก มีทักษะในการแข่งขันมากกว่า 2 พวกแรก การอบรมจะเพิ่มความพิถีพิถันมากขึ้น
ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้แบ่งการอบรมเลี้ยงดูออกเป็น 5 แบบ (2521:42 - 43)
1. แบบมุ่งอนาคต หมายถึงการอบรมเลี้ยงดูที่สร้างนิสัย การบังคับตนเอง ให้อดได้รอได้ หรือเลือกที่จะไม่รับประโยชน์เล็กน้อยในทันที แต่จะรอรับประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่า ที่จะตามมาภายหลัง
2. แบบรักสนับสนุน หมายถึง ลักษณะการปฏิบัติของมารดา ในลักษณะของการแสดงความสนิทสนม รักใคร่ ชื่นชม สนใจทุกข์สุข ช่วยแก้ปัญหาให้ลูก
3. แบบควบคุม หมายถึง ลักษณะแบบปฏิบัติของบิดามารดาในลักษณะการออกคำสั่ง และควบคุมการกระทำในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยไม่ยอมปล่อยให้ลูกเป็นตัวของตัวของตัวเอง
4. แบบใช้เหตุผล หมายถึงลักษณะการปฏิบัติของบิดามารดา โดยการอธิบายเหตุผลในขณะที่สนับสนุน และห้ามปรามการกระทำของลูก
5. แบบลงโทษทางกายและจิต หมายถึงลักษณะการปฏิบัติของบิดามารดา ในลักษณะที่ลงโทษลูกด้วยการทำให้เจ็บตัว หรือการติเตียนไม่ให้ความรัก ตัดสิทธิ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2520, 26) ได้แบ่งบิดามารดาออกเป็น 4 ประเภท ตาม ทัศนคติของพ่อแม่ ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร คือ
1. ประเภทรักจนเหลิง หมายถึง การเลี้ยงดูที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กจะได้รับความรักและการตามใจอย่างมากจนเกินไป ไม่มีความรับผิดชอบหรือหน้าที่ที่จะปฏิบัติภายในบ้าน ได้รับของ และพาไปเที่ยวสนุกสนาน โดยไม่มีเหตุผลอันควร
2. ประเภทเข้มงวด หมายถึง การเลี้ยงดูหรือคาดหวังให้เด็กปฏิบัติตามอย่างแคร่งครัด
หากไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ การกระทำมีกฎเกณฑ์ลงโทษอย่างยุติธรรม คาดหวังที่จะให้เด็กมีความสามารถเกินธรรมชาติ
3. ประเภทละทิ้งและปฏิเสธ หมายถึง การเลี้ยงดูทำตนเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับเด็กแสดงความโกรธ เกลียดในรูปของการควบคุม และลงโทษซ้ำพ่อแม่ยังรู้สึกว่าลูกของตนเป็นผู้แก้ไขให้ดีไม่ได้แล้ว
4. ประเภททะนุถนอมแบบไข่ในหิน หมายถึง การเลี้ยงดูแบบคอยสอดส่องลูกตลอดเวลา โดยมิให้เสี่ยงเลย พ่อแม่จะทำให้ลูกทุกอย่าง แม้จะโตแล้ว
การอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพของเด็กไทยนั้น ได้มีผู้ทำการวิจัยไว้มากมาย ดังนี้
ชูศรี หลักเพชร (2511) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่า การเข้มงวดกวดขัน
รัชนี กิติพรชัย (2515) พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน จะทำให้มีความคิดริเริ่มต่ำ
ถั้น แพรเพชร (2517) พบว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความคิดริเริ่มสูงกว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบอื่น
วิกรม กมลสุโกศล (2518) พบว่า เด็กที่ได้รับการบอบรมเลี้ยงดูแบบถูกทอดทิ้ง และแบบคุ้มครองมากเกินไป มีความวิตกกังวลสูงกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย
จำเนียร คันธเสวี (อ้างใน วิกรม กมลศุโกศล 2518:11) กล่าวว่า การเลี้ยงดูแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป โดยการให้ความรักและเอาใจใส่มากเกินไป จะทำให้เด็กมีลักษณะเป็นผู้ตาม มักมีปัญหาที่ยุ่งยาก ไม่มีความสามารถในการปรับตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ซุกซนผิดปกติโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น สนุกโดยการแกล้งผู้อื่นไม่กลัวใคร ชอบฝ่าฝืน และมักจะก้าวร้าว
ประพันธ์ สุทธาวาส (2519) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง และแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป มีความก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งและแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป มีความก้าวร้าวไม่ต่างกัน แต่แบบประชาธิปไตยเด็กชายมีแนวโน้มก้าวร้าวมากกว่าเด็กหญิง
ประพันธ์ สุทธาวาส (2519) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความก้าวร้าวน้อยกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง
สมาน กำเนิด (2520) วิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ปรับตัวได้ดีกว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู แบบปล่อยปละละเลย
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2521, 105) กล่าวว่า ผู้ที่ถูกอบรมเลี้ยงแบบควบคุมมาก จะเป็นผู้ที่มีคะแนนความเอื่อเฟื้อสูง แต่จะมีลักษณะความเป็นผู้นำต่ำ มีวินัยทางสังคมต่ำ มีความสามารถควบคุมตนเองน้อย
วรรณงาม รุ่งพิสุทธิพงษ์ (2522) ศึกษาพบว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษาของบิดามารดาและอาชีพมีความสัมพันธ์กับสติปัญญา
สัมพันธ์ บุญเกิด (2522) วิจัยพบว่า บิดามารดาที่มีอายุ ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจสถานภาพการทำงานแตกต่างกัน จะมีความเชื่อมั่นในการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกัน
บัณฑิตา ศักดิ์อุดม (2523) พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย จะมีวินัยในตนเองสูง
สำหรับการอมรมเลี้ยงดูตามฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวนั้น ได้มีผู้วิจัยพบว่าในครอบครัวระดับสูง บิดามารดาจะฝึกสัมฤทธิ์ผลให้แก่เด็กมาก เพราะต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิตเช่นเดียวกับตน (เกื้อกูล ทาสิทธิ์, 2513)
ครอบครัวในระดับกลาง ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักพึ่งตนเองบิดามารดาจะใช้วิธีการอ่อนโยน มีการลงโทษน้อย ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก มีลักษณะของผู้นำ มั่นใจในตนเองสูง จากการศึกษาของราศรี เทพหัสดิน ณ อยุธยา (2515) พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวระดับกลางมีลักษณะดังนี้
มีความทะเยอทะยานสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวระดับต่ำ
เด็กชายมีความทะเยอทะยานมากกว่าเด็กหญิง
มีความสนใจตนเองมากกว่าผู้อื่น
ต้องการเห็นความเจริญของสังคม มากกว่าการเข้าไปช่วยทำให้สังคมนั้นเจริญขึ้น
ครอบครัวระดับต่ำ มีการฝึกให้เด็กมีการอดได้รอได้ สูงมาก เรียนไม่เก่ง ขลาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนมีปมด้อย ไม่กล้าแสดงออก อยากเปลี่ยนแปลงบุคคลิกภาพของตนให้ดีขึ้น
งานวิจัยที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่นั้น มัญชรี บุนนาค (2514) ได้วิจัยเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาในเมืองใหญ่กับต่างจังหวัด พบว่า เด็กในกรุงเทพฯ มีความสามารถเหนือเด็กในต่างจังหวัดในด้านต่อไปนี้
1. ความสามารถทางสติปัญญา
2. ความมั่นใจในตนเอง
3. ความสามารถในการบังคับตนเอง
ส่วนเด็กต่างจังหวัดเหนือกว่าเด็กในกรุงเทพฯ ก็คือสภาพทางอารมณ์
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2521) ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ปกครองในการให้การอบรมเลี้ยงดูดังนี้
1. ไม่เลี้ยงดูแบบควบคุมมาก ควรใช้วิธีการที่นุ่มนวล และลดปริมาณการควบคุมเด็กลงบ้าง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่า ตนถูกควบคุมจนเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจสภาพแวดล้อมของตนได้กว้างขวางขึ้น ฝึกให้ตัดสินใจปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ภายใต้การแนะนำของผู้ปกครอง มิใช่ปล่อยไม่ควบคุมเลย เพราะจะทำให้เด็กขาดความเชื่อฟัง ไม่รับผิดชอบ ขาดสมาธิ จึงควรเลี้ยงดู ที่ใช้การควบคุมทีมีปริมาณปานกลาง จะให้ผลดีที่สุด
2. การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีผลต่อความสมบูรณ์ทางสุขภาพจิตของเด็ก ซึ่งใช้การอบรมแบบใช้เหตุผล โดยเฉพาะ เหตุผลทางจริยธรรม จะมีลักษณะมุ่งอนาคตสูงและมีสุขภาพจิตดี ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับความรักมาก โดยทำให้เด็กทราบว่า ในการเลี้ยงดูนั้น ตนใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และควรลงโทษเด็กโตด้วยการลงโทษทางจิตมากกว่าการลงโทษทางกาย 

ทฤษฎีบุคลิกภาพ เป็นคำอธิบายของ นักจิตวิทยา เกี่ยวกับ บุคลิกภาพ อย่างมีระบบระเบียบ ซึ่งมีหลายทฤษฎีด้วยกัน เนื่องจาก บุคลิกภาพ มีลักษณะซับซ้อน หลายแง่หลายมุม เจ้าของทฤษฎีบุคลิกภาพ แต่ละทฤษฎีต่าง ก็อธิบาย บุคลิกภาพ ในแง่มุมที่ตนสนใจ และเห็นว่าสำคัญไม่มีทฤษฎีใด อธิบายได้ครบถ้วนทั้งหมด ดังนั้น ถ้าต้องการความเข้าใจเรื่อง บุคลิกภาพ โดยกว้างขวาง ก็ต้องศึกษา ทฤษฎีบุคลิกภาพ หลายๆ ทฤษฎี หรือถ้าต้องการความเข้าใจ บุคลิกภาพ บางด้านอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานบางงานโดยเฉพาะ ก็ต้องเลือกศึกษาบางทฤษฎีโดยละเอียด ให้สอดคล้องกับ ความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เรียนจิตวิทยา ความเข้าใจเรื่อง ทฤษฎีบุคลิกภาพ จะช่วยให้มองเห็นทั้ง องค์ประกอบของบุคลิกภาพ ประเภทของบุคลิกภาพ หรือ ประเภทของคนลักษณะต่างๆ รวมทั้ง ที่มาของบุคลิกภาพ และ การปรับเปลี่ยนพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เกิด ความเข้าใจบุคคล ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และเป็นแนวทางใน การสร้างเสริมตนเอง และ ผู้ร่วมปฏิบัติงานธุรกิจ ให้มี บุคลิกภาพ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับ งานของตน ซึ่งจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทฤษฎีลักษณะบุคคลของอัลพอร์ท(Allport’s Trait Theory)
ทฤษฎีบุคลิกภาพ ที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลซึ่งกล่าวถึงกันทั่วไป ได้แก่ ทฤษฎีของกอร์ดอล อัลพอร์ท นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเขามีความเชื่อว่า บุคลิกภาพ ของบุคคลมีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและมีความคงที่พอสมควร เป็นอย่างไรก็มักจะอยู่อย่างนั้น และส่งผลสู่การแสดงตัวในภาวะต่างๆ ของบุคคล ทฤษฎีนี้แบ่งประเภทของ บุคลิกภาพ ตามลักษณะร่างกายของบุคคลเป็น 3 พวกคือ
  1. พวกมีลักษณะเด่น พวกนี้มักมีร่างกายสูงใหญ่ หรือหน้าตาดี หรือมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งอาจเป็นน้ำเสียง ท่าทาง การพูด การเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งท่าทีปฏิกิริยาต่อผู้อื่น
  2. พวกที่มีลักษณะด้อย พวกนี้มักมีรูปร่างเตี้ยหรือตัวเล็ก หน้าตาไม่ดี หรือมีลักษณะบางประการที่เป็นปมด้อยของตน
  3. พวกที่มีลักษณะกลาง พวกนี้มักมีร่างกายธรรมดาแบบคนส่วนใหญ่ทั่วไป ลักษณะต่างๆ เป็นกลางๆ ไม่เด่น ไม่ด้อย แต่ก็ไม่มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ มักผสมผสานกลมกลืนไปกับคนส่วนใหญ่
ลักษณะทั้ง 3 ประการดังกล่าว มีผลต่อวิธีการแสดงออกของพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น พวกมีปมด้อย ขี้อาย เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ต้องปรากฎตัวในงานใหญ่ หรือต้องกล่าวในที่ประชุม หรือพบคนแปลกหน้า พวกนี้มักหลีกเลี่ยง วิตกกังวล ทำอะไรเงอะงะผิดพลาด และแยกตัวเอง แต่ถ้าเป็นพวกมีลักษณะเด่น ก็จะเชื่อมั่นในตนเอง แสดงออกได้โดยเหมาะสม สง่าผ่าเผย สิ่งเหล่านี้มักส่งผลให้ทำอะไรได้สำเร็จ หรือเป็นที่ยอมรับทั่วไป สำหรับผู้บริหารหากมีลักษณะเด่นประจำตัวมักเป็นปัจจัยให้งานดีขึ้น แต่ถ้าขาดลักษณะเด่นก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา หรือหาแนวทางฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความคล่องตัว ให้เหมาะสมสอดคล้องกับงานตามบทบาทหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในงานที่ทำ

ทฤษฎีพลังบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychodynamic Theory)
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา เขาให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการทาง บุคลิกภาพ และพลังแห่ง บุคลิกภาพ ของคนเรา ทฤษฎีบุคลิกภาพ ของซิมันด์ฟรอยด์ อธิบายได้เป็น 2 แบบ คือ อธิบายในลักษณะของ ทฤษฎีพัฒนาการ และ ทฤษฎีพลังแห่งบุคลิกภาพ การอธิบายบุคลิกภาพในแง่ พลังบุคลิกภาพ ฟรอยด์ อธิบายในรูปของลักษณะของจิต และ โครงสร้างของจิต เกี่ยวกับลักษณะของจิต ฟรอยด์อธิบายว่า จิตของคนเรามี 3 ลักษณะ คือ
  1. จิตรู้สำนึก (conscious) เป็นสภาพที่บุคคลรู้ตัวว่าเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ฯลฯ เป็นจิตส่วนที่ควบคุมให้แสดงพฤติกรรม ตามหลักเหตุผลและสิ่งผลักดันภายนอกตัว
  2. จิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นสภาพที่บุคคลไม่รู้ตัว บางทีเพราะลืม เพราะเก็บกด หรือเพราะไม่ตระหนักในตนว่ามีสิ่งนั้นอยู่ เช่น ไม่รู้ตัวว่าอิจฉาเพื่อน หรือลืมว่าตนเองเกลียดบางอย่าง
  3. จิตใต้สำนึก (subconscious) เป็นสภาพจิตกึ่งรู้สำนึก ถ้าเข้ามาในห้วงนึกก็จะตระหนักได้ แต่ถ้าไม่คิดถึงจิตส่วนนั้น จะเหมือนกับ ไม่มีตนเอง เช่น อาจกังวลในบางเรื่อง กลัวในบางสิ่ง โกรธคนบางคน
จิตทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าว ชนิดไหนมีอำนาจเหนือกว่า บุคคลนั้นๆ ก็มักจะแสดงพฤติกรรมหนักไปทางจิตส่วนนั้น และจิตไร้สำนึกดูจะมีอิทธิพล ต่อพฤติกรรมมากกว่าจิตส่วนอื่น ส่วนจะแสดงพฤติกรรมออกไปในลักษณะใด มักขึ้นกับโครงสร้างของจิต ซึ่งมี 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ อิด (id) อีโก้ (ego) และซุปเปอร์อีโก้ (super ego) คำว่า “อิด” เป็นพื้นฐานดั้งเดิมของบุคคล เช่น ความอยาก ตัณหา ความต้องการ ความป่าเถื่อน อันถือเป็นธรรมชาติแท้ๆ ยังไม่ได้ขัดเกลา “อีโก้” เป็นพลังส่วนที่จะพยายาม หาทางตอบสนอง ความต้องการของอิด และ “ซุปเปอร์อีโก้” เป็นพลังที่คอยควบคุม อีโก้ ให้อีโก้ หาหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการของ อิด โดยเหนี่ยวรั้ง ให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผลให้คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี คุณธรรม และสังคมที่แวดล้อม
ความเข้าใจ บุคลิกภาพ ตามทฤษฎีพลังบุคลิกภาพนี้ ช่วยให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนร่วมงานได้ในหลายลักษณะ เป็นแนวทางให้รู้จักควบคุมประคับประคองตนเองให้มีสติ ยั้งคิด ไม่อยู่ไต้อำนาจครอบงำของธรรมชาติแท้ๆ ที่ยังมิได้ขัดเกลามากไป ซึ่งถ้าทำได้ ก็จัดเป็นส่วนหนึ้งของ การพัฒนาบุคลิกภาพ และ พัฒนาตน ให้พร้อมต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นักจิตวิทยาชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่งชื่อ สจ๊วต ไดมอนด์ (Stuart Dimond) บอกว่า บุคลิกภาพ เป็นหน้าที่และการทำงานของสมอง ซึ่งเหมือนกับทฤษฎีของ ฮานส์ ไอเซนก์(Hans Eysenck's theory) ที่ว่า บุคลิกภาพ ถูกกำหนดด้วยพันธุกรรม เหมือนกับ ลายนิ้วมือที่จะมีลายต่าง ๆ หรือ รอยหยักในสมองก็จะถูกกำหนดโดย พันธุกรรมเช่นกัน
บุคลิกภาพ โดยทั่วไปของคนเรา ตามทฤษฎีของไดมอนด์จะมี 8 ประเภทด้วยกัน
ประเภทแรก คือ พวกที่ชอบมอง ชอบดู (Visualist)
ประเภทที่ 2 คือ พวกชอบฟัง (Audist)
ประเภทที่ 3 คือ พวกที่ชอบยั่วยวน (Sexist)
ประเภทที่ 4 คือ พวกชอบมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา (Motorist)
ประเภทที่ 5 คือ พวกที่ชอบพูด ชำนาญเรื่องภาษา (Linguist)
ประเภทที่ 6 คือ พวกที่ชอบเกี่ยวกับรูปร่าง จินตนาการ ภาพพจน์ (Spacist)
ประเภทที่ 7 คือ พวกที่ชอบแสดงความรู้สึก พวกมีอารมณ์หลงใหล (Emotionist) และ
ประเภทที่ 8 คือ พวกก้าวร้าว พวกที่ชอบประสานงา ชอบทะเลาะ (Aggressist)

ในขณะที่ทฤษฎีของแมคเคร (McCrae's theory) และทฤษฎีของคอสตา (Costa's theory) ให้คำนิยามของ บุคลิกภาพ ต่าง ๆ ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นพวกประสาท กังวลตลอดเวลา ไม่มีความมั่นใจ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นคนรู้สึกผิดบ่อย ๆ (Neuroticism)
กลุ่มที่ 2 เป็นพวกที่ชอบพูดชอบคุย ชอบสังคม รักสนุก มีอารมณ์รักใคร่ง่าย ๆ (Extraversion)
กลุ่มที่ 3 เป็นพวกที่กล้า ชอบแสดงออก มีจินตนาการ ภาพพจน์ (Openness)
กลุ่มที่ 4 เป็นพวกที่รู้จักเห็นอกเห็นใจ ดูอบอุ่น น่าไว้ใจ ให้ความร่วมมือ (Agreeboldness) และ
กลุ่มที่ 5 เป็นพวกที่เชื่อใจได้ ทำอะไรมีจุดมุ่งหมาย มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบ (Conscientiousness)
จอห์น บริกก์ส (John Briggs) บอกว่าความคิดสร้างสรรค์จริง ๆ แล้ว คือ ความรู้สึกที่เพ้อฝัน และยังชี้อีกว่าคนที่เราเรียกว่าอัจฉริยะ หรือ จีเนียส (genius) ซึ่งมาจากคำละติน แปลว่า วิญญาณ (spirit) ก็คือ คนที่รู้จักความสามารถของตัวเอง และสามารถนำ ความสามารถของตัวเองไปสู่วิสัยทัศน์และการปฏิบัติได้ เป็นคนยืดหยุ่น ใจกว้าง และมีความต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีได้
มีคำกล่าวไว้ว่า บุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะมีคุณสมบัติ 2 อย่างอยู่ในตัวเอง คือ จะเป็นคนค่อนข้างเงียบ ๆ ค่อนข้างล้าสมัย และอนุรักษ์นิยม ในขณะเดียวกันจะเป็นคนที่บ้าบิ่นมากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัด
โดยสรุป พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา บุคลิกภาพ รวมถึงความสามารถพิเศษของเรา สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ของ บุคลิกภาพ ที่ดี คือ ความสามารถที่จะเอาข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่มาช่วยในการตัดสินใจ และช่วยให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม
ที่มา: http://www.novabizz.com




การพัฒนาบุคลิกภาพ

   บุคลิกภาพ  คือ  ลักษณะท่าทางซึ่งสามารถแสดงออกมาได้ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  และความรู้สึกนึกคิด  ที่สะท้อนออกมาให้ผู้อื่นเห็นและเกิดความประทับใจ  ฉะนั้น  การที่บุคคลจะได้รับการยอมรับนับถือ  การสนับสนุน  ความไว้วางใจ  และความประทับใจจากผู้อื่นนั้น  ก็ควรที่จะแสดงบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมให้ผู้อื่นเห็น  เพราะบุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

+ พัฒนาบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ คือ ลักษณะท่าทางซึ่งสามารถแสดงออกมาได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความรู้สึกนึกคิด ที่สะท้อนออกมาให้ผู้อื่นเห็นและเกิดความประทับใจ ฉะนั้น การที่บุคคลจะได้รับการยอมรับนับถือ การสนับสนุน ความไว้วางใจ และความประทับใจจากผู้อื่นนั้น ก็ควรที่จะแสดงบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมให้ผู้อื่นเห็น เพราะบุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

1. ความหมายและความสำคัญของบุคลิกภาพ
คำว่า "บุคลิกภาพ" หมายถึง คุณลักษณะทางกาย ทางจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดที่สะท้อนออกมาให้ผู้อื่นเห็นและเกิดความประทับใจมากน้อยเพียงใด

มีความสำคัญคือ บุคลิกภาพนับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง จึงส่งผลต่อการยอมรับนับถือ การให้ความร่วมมือ การสนับสนุน และความไว้วางใจจากผู้อื่น

2. ประเภทของบุคลิกภาพ
2.1 บุคลิกภาพภายนอก คือ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอกของแต่ละคน สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน แบ่งได้เป็น 4 หมวด คือ
1. รูปร่างหน้าตา
2. การแต่งกาย
3. กิริยาท่าทาง
4. การพูด
2.2 บุคลิกภาพภายใน คือ สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ หรืออุปนิสัยใจคอที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ แก้ไขได้ยาก เช่น
1. ความเชื่อมั่นในตนเอง
2. ความซื่อสัตย์สุจริต
3. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. ความรับผิดชอบ

3. หลักและวิธีเสริมสร้างบุคลิกภาพ
การยืน เดิน นั่ง เป็นส่วนสำคัญที่บอกถึงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล งามอิริยาบถ คือ การเดิน ยืน นั่ง เปิด-ปิดประตู ขึ้นลงรถ อย่างถูกต้องสวยงาม
การรู้จักทำตัวให้เข้ากับบุคคล สถานที่ และเวลา อย่างถูกต้องถือว่ามีมารยาททางสังคมที่ดี เช่น การรู้จักกราบไหว้ที่ถูกวิธี และถูกกาลเทศะ การรู้จักธรรมเนียมของชาวต่างชาติ การปฏิบัติตนในงานเลี้ยงต่าง ๆ การไปเยี่ยมคนป่วย การมอบดอกไม้แสดงความยินดีหรือให้ผู้อาวุโส เป็นต้น
บางครั้งเราอาจจะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ และอาจเกิดอะไรขึ้นกับเราได้ทุกวินาทีนั้น เราต้องพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะที่พร้อม คือ ไม่ตกใจ ดีใจ เสียใจ กลัว เกินกว่าเหตุ สามารถควบคุมท่าทางของตนเองได้เป็นอย่างดี

4. แนวทางในการพัฒนาบุคลิกภาพ
4.1 การรักษาสุขภาพอนามัย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มหรือลดผิดปกติ
- ละเว้นการสูบบุหรี่หรือยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
- ไม่ดื่มสิ่งของที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชม.
- รักษาอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

4.2 การดูแลร่างกาย
- รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน
- ดูแลรักษาเส้นผมและทรงผมให้เรียบร้อยทั้งด้านความสะอาดและรูปทรง
- โกนหนวดเคราให้เกลี้ยงเกลา ตัดและขริบให้เรียบร้อย
- รักษาผิวพรรณให้สะอาดสดชื่นอยู่เสมอ อย่าให้ผิวแห้งกร้าน
- รักษากลิ่นตัว
- รู้จักการแต่งหน้าแต่พองาม
- ดูแลเล็บมือ เล็บเท้า ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในที่สวมใส่ทุกวัน
- ควรมีการเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปี
- เมื่อร่างกายมีอาการผิดปกติรีบไปปรึกษาแพทย์

4.3 การแต่งกาย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ซักรีดให้เรียบ
- สีสันไม่ฉูดฉาด ควรเลือกสีให้เหมาะสมกับรูปร่างและผิวพรรณของตนเอง
- กระเป๋าถือและรองเท้า ควรใช้หนังที่มีคุณภาพดี สีเรียบ สำรวจส้นรองเท้าจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย
- แต่งหน้าให้แนบเนียน ไม่แต่งเข้มผิดธรรมชาติ เลือกใช้เครื่องสำอางค์ที่มีคุณภาพดี
- เล็บและการทาเล็บ ไม่ควรไว้เล็บยาวจนเกินไป ควรเลือกสีกลาง ๆ อย่าปล่อยให้สีถลอกจะไม่น่าดู
- ผม หมั่นสระให้สะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แปรงหวีให้เรียบร้อย เลือกทรงผมที่รับกับใบหน้า
- เครื่องประดับ ควรใช้เพื่อเสริมการแต่งกายให้ดูดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้เครื่องประดับมากจนเกินไปจนดูสะดุดตารกรุงรังไปหมด
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

4.4 อารมณ์
รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ไปตามใจตนเอง คนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้จะได้เปรียบและจะเอาชนะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ในการปฏิบัติงานเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนอารมณ์กันอยู่เสมอ
ฉะนั้น บุคคลใดที่ต้องการจะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้ดีขึ้น จะต้องเป็นคนรู้จักอดทนใจเย็นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเกิดขึ้น

4.5 ความเชื่อมั่นในตนเอง
- ยอมรับในความสามารถของตนเอง
- อย่าเล็งผลเลิศในการทำงานจนเกินไป
- อย่าถือคติว่าการทำงานสิ่งใดเมื่อทำแล้วต้องดีที่สุด
- อย่านำความเก่งของผู้อื่นมาทับถมตนเอง
- หมั่นฝึกจิตใจตนเองให้ชนะความกลัวให้ได้

5. การพัฒนาบุคลิกภาพด้านความรู้สึกนึกคิด
ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดในด้านดี ไม่มองคนในแง่ร้าย จิตใจก็เป็นสุข ไม่มีความกังวล ดังนั้น เลขานุการจึงควรพัฒนาบุคลิกภาพด้านความรู้สึกนึกคิดดังนี้
1. มีความเชื่อมั่นในตนเองในการกระทำในสิ่งต่าง ๆ
2. มีความซื่อสัตย์ กระทำตนให้ผู้อื่นเชื่อถือเรา แล้วความไว้วางใจจะตามมา มีเรื่องสำคัญเขาก็จะให้เราทำ
3. มีความสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านั้น ให้เหมาะสมกับผู้ที่มอบหมายไว้วางใจให้เราทำ
4. มีความกระตือรือร้น ที่อยากจะทำ เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักปรับปรุงงานอยู่เสมอ
6. มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีความห่วงใยจะต้องทำให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา
7. มีความรอบรู้
8. ห่วงตัวเอง เติมชีวิตให้กับตัวเอง
9. มีความจำแม่น
10. วางตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ

6. การพัฒนาบุคลิกภาพด้านกายบริหารทรวดทรง
องค์ประกอบของทรวดทรง ขึ้นอยู่กับกลไกของการเคลื่อนไหวของร่างกายและโครงสร้างของร่างกายไม่ว่าหญิงหรือชายก็ชอบที่จะมีรูปร่างงามทั้งนั้น ผู้ชายก็ต้องการมีรูปร่างสมาร์ท ผู้หญิงก็ต้องการมีเอวบาง ร่างน้อย มีสุขภาพดี การมีรูปร่างงาม สุขภาพดี เกิดจากการพัฒนาตัวเราเอง เราเป็นผู้วางแผนในชีวิตของเราเอง
ทรวดทรงอาจไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่ส่วนสัดและท่าทาง ทำให้คนทุกคนดูแตกต่างกันไป บุคลิกที่ไม่ดีแสดงว่าเจ้าของเรือนร่างขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าได้เรียนรู้วิธีเสริมสร้างเสน่ห์ให้กับบุคลิกภาพของตนเองแล้ว จะไม่เพียงทำให้มีรูปร่างสง่างามเท่านั้น ยังสามารถทำให้การปฏิบัติงานเกิดความเชื่อมั่น งานก็มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นเลขานุการจึงควรใช้เวลาในการบริหารทรวดทรงของตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะสุขภาพที่ดี และทรวดทรงที่งดงามอีกด้วย

+ Personality Development


การพัฒนาบุคลิกภาพ
Personality Development


คำว่า “บุคลิกภาพ” (Personality) มาจากภาษาลาตินว่า “Persona” ซึ่งแปลว่า หน้ากากที่ตัวละครสมัยกรีก และโรมันสวมใส่เพื่อแสดงบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน ให้ผู้เห็นได้ในระยะไกล ๆ
นักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” ไว้ต่าง ๆ ดังนี้
บุคลิกภาพ หมายถึง สภาวะทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวบุคคล โดยหมายรวมถึงคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะทางจิตใจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกระทำของบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ
บุคลิกภาพ เป็นหน่วยรวมของระบบทางกายและจิตภายในตัวบุคคล ซึ่งกำหนดลักษณะการปรับตัวเป็นแบบเฉพาะของบุคคลนั้นต่อสิ่งแวดล้อมของเขา บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจะเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะนิสัยในการคิดและการ แสดงออกรวมทั้งทัศนคติและความสนใจต่าง ๆ กิริยาท่าทาง ตลอดจนปรัชญาชีวิตที่บุคคลนั้นยึดถือ

ความสำคัญของการมีบุคลิกภาพดี
การมีบุคลิกภาพที่ดีนั้น จะเป็นผลให้บุคคลนั้นมีลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้
1. มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในสภาพความจริงได้อย่างถูกต้อง
2. การแสดงอารมณ์จะอยู่ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม
3. มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสังคมได้ดี
4. มีความสามารถในการทำงานที่อำนวยประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมได้
5. มีความรัก และความผูกพันต่อผู้อื่น
6. มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทางการแสดงออกของตนต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น

ปัญหาการขาดความสามารถในการปรับตัวหรือการปรับบุคลิกภาพ
เมื่อบุคคลไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และบุคคลอื่น ที่แวดล้อม จะเป็นผลให้บุคคลนั้นมีลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อตนเองใน การดำเนินชีวิต ดังนี้
1. เป็นคนที่มีอาการเคร่งเครียด
2. ทำให้มีอาการเจ็บป่วยทางกาย จากสาเหตุของความเครียด
3. หย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต
แนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพ
การที่คนเราจะมีบุคลิกภาพดีนั้น มิใช่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพียง ภายนอกด้วยการแต่งกาย หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น หากจำเป็นต้องมี การปรับปรุงหรือพัฒนาบุคลิกภาพภายในเสียก่อนเป็นเบื้องต้น จึงจะทำให้ การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกประสบความสำเร็จได้
ในที่นี้จึงจะชี้ให้เห็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ ในการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยแยกลักษณะของการพัฒนาบุคลิกภาพออกเป็น 2 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1. การพัฒนาบุคลิกภาพภายใน (Internal Personality) เป็นความจำเป็นที่คนเรา จะต้องพัฒนาบุคลิกภาพภายในเสียก่อนเพื่อนำไปสู่การมีบุคลิกภาพภายนอกหรือการ มีการประพฤติปฏิบัติในด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสถานภาพของตนเองสภาวการณ์แวดล้อม

สาระสำคัญของบุคลิกภาพภายใน (Internal Personality) ที่เราจะต้องพัฒนามี ดังนี้
• การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
• ความกระตือรือร้น
• ความรอบรู้
• ความคิดริเริ่ม
• ความจริงใจ
• ความรู้กาละเทศะ
• ปฏิภาณไหวพริบ
• ความรับผิดชอบ
• ความจำ
• อารมณ์ขัน
• ความมีคุณธรรม
2. การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก (External Personality) เมื่อมีการพัฒนาบุคลิกภาพภายในดีแล้ว จะทำให้พฤติกรรม ท่าที การแสดงออกในด้านต่าง ๆ ของคนเรางดงาม เหมาะสม ทำให้ได้รับความชื่นชม การยอมรับ และศรัทธาจากบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี สำหรับบุคลิกภาพภายนอกที่จำเป็นต้องพัฒนา มีดังนี้
• รูปร่างหน้าตา • การแต่งกาย
• การปรากฎตัว • กริยาท่าทาง
• การสบสายตา • การใช้น้ำเสียง
• การใช้ถ้อยคำภาษา • มีศิลปการพูด

ผู้ที่ประสงค์จะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้เพิ่มสิ่งที่ดีงามให้กับตนเอง การสั่งสมเช่นนี้ จำเป็นต้องอดทนและแน่วแน่ในความพยายามอย่างมุ่งมั่น บุคคลจึงจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาบุคลิกภาพได้ ในที่สุด
Herbert Casson ได้เปรียบเทียบถึงความหวังกับความสำเร็จไว้อย่างน่าฟัง ดังนี้
• ความหวังนั้น เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืช มันจะไม่มีวันงอกงาม ถ้าคุณไม่ลงมือปลูกมัน
• ความหวังจะไม่กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้าคุณไม่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า ที่จะทำจนกว่าจะได้สิ่งที่คุณต้องการ
• ความหวังเพียงอย่างเดียว จะไม่นำมาซึ่งความสำเร็จหรือความสุขได้เลยและมักจะ นำความทุกข์มาสู่ผู้ที่ไม่มีความกล้าที่จะลงมือทำ
มีผู้ศึกษาถึงลักษณะบุคลิกภาพของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ โดยจัดลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย ดังนี้
1. ความเฉลี่ยวฉลาด
2. ความมั่นใจในตนเอง
3. สมาคมกับผู้อื่นได้ดี
4. มีเจตจำนงแน่วแน่
5. มองโลกตามความเป็นจริง
6. มีความเด่นหรือความมีอำนาจ
7. มีทัศนคติในเชิงบวกต่อมนุษย์

การพัฒนาบุคลิกภาพ กับการสร้างความสำเร็จในชีวิต
การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นหนทางสำคัญที่จะนำบุคคลไปสู่ความสำเร็จ ในชีวิตเพราะการที่คนเราจะสร้างความสำเร็จในชีวิตได้ จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถสำคัญ 3 ประการ
1. ความสามารถในการครองตน คือจะต้องดูแลตนเองให้กินดีอยู่ดีมีความพอใจในชีวิตและลิขิตชีวิตตัวเองได้
2. ความสามารถในการครองคน คือสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีเป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความสำคัญกับผู้อื่นจนชนะใจผู้อื่นได้
3. ความสามารถในการครองงานคือสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จในงานอาชีพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความก้าวหน้าในงานที่รับผิดชอบ

บุคลิกภาพหรือคุณลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของนักบริหารทั่วไป
มีผู้ศึกษาและรวบรวมข้อผิดพลาดที่นักบริหารมักประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ซึ่งควรจะพิจารณาสำรวจและแก้ไขปรับปรุงดังนี้
1. ไม่รักความก้าวหน้า
2. รอบรู้ในวงจำกัด
3. ขาดความรับผิดชอบ
4. ไม่กล้าตัดสินใจ
5. ไม่หมั่นตรวจสอบ
6. สื่อความหมายคลุมเครือ
7. มอบหมายงานไม่เป็น
8. ชอบเข้าข้างตัวเอง
9. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
10. แสวงหาผลโดยมิชอบ
11. ไม่รักษาคำพูด
12. เป็นตัวอย่างที่เลว
13. อยากเป็นที่ชื่นชอบ
14. ไม่เห็นใจลูกน้อง
15. มองข้ามความสามารถ
16. ไม่อบรมพัฒนา
17. บ้ากฎระเบียบ
18. ขาดศิลปะในการวิจารณ์
19. ไม่ใส่ใจในคำร้องทุกข์
20. อ่อนประชาสัมพันธ์
21. ไร้มนุษยสัมพันธ์
22. ไม่สร้างฐานรองรับ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพ
1. แบบแผนทางวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อม
2. สถานะทางเศรษฐกิจ – สังคม
3. แบบแผนของสถาบัน ชุมชน สังคม
4. ค่านิยม หลักการ ปรัชญาในการมีชีวิต
5. สุขภาพจิต (ลักษณะความอบอุ่นในครอบครัวทั้งในอดีตและปัจจุบัน)
6. การศึกษา (โรงเรียน, แบบแผนของสถาบันการศึกษา)
7. ความต้องการ แรงขับกระตุ้น (ในแง่จิตวิทยา)
8. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพื่อน อาชีพ ฯลฯ

อะไรคือตัววัดบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคล ดังนั้นการศึกษาหาบุคลิกภาพของบุคคล จึงพิจารณาได้จากลักษณะหรือตัววัดที่สำคัญ ประการ
1. คำพูดที่สื่อความรู้สึกนึกคิด
2. อากัปกริยาที่แสดงออก
3. การเปลี่ยนแปลงทางสรีระ

สรุป
การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นคุณค่าต่อชีวิตที่มีคุณภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะมองในแง่ความสุขในการมีชีวิตครอบครัว ชีวิตในสังคม และในการทำงาน หรือในแง่ของความสำเร็จในชีวิตอันเป็นที่พึง ปรารถนาของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม
ดังนั้น หากมีความปรารถนาและมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่สักวันหนึ่งท่านก็จะเป็น ผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลิกภาพอันงดงามอย่างแน่นอน จงตั้งความหวังและลงมือกระทำตั้งแต่บัดนี้

ภาวะผู้นำกับประสิทธิภาพการบริหาร

ภาวะผู้นำ (Leadership style)
ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นกระบวนการมิใช่บุคคล ถึงแม้ว่าจะขึ้นอยู่กับความชอบธรรมในการใช้อำนาจของตัวผู้นำ
ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการของการมีอิทธิพลเหนือกลุ่ม เพื่อการกำหนดเป้าหมาย และการบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม และหากกล่าวถึงความเข้มแข็งของภาวะผู้นำในองค์การ ก็ดูได้จากความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเท่านั้น

องค์ประกอบภาวะผู้นำ
ปฏิสัมพันธ์ (Transaction) ของภาวะผู้นำนั้น มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการคือ สถานการณ์ ผู้นำ และผู้ตาม

องค์ประกอบ 3 ประการของผู้นำ
สถานการณ์
-งานและทรัพยากร
-โครงสร้างและกฎระเบียบทางสังคม
-ลักษณะทางกายภาพ ขนาดความหนาแน่น
-ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ผู้นำ
-ความชอบธรรม
-ความสามารถ
-การจูงใจ
-ลักษณะทางบุคลิกภาพ ฯลฯ

ผู้ตาม
-ความคาดหวัง
-ลักษณะทางบุคลิกภาพ

-ความสามารถ

-การจูงใจ ฯลฯ

ผู้นำมาจากไหน
* มหาบุรุษนั้นเกิดมาเพื่อที่จะเป็นมหาบุรุษ (Frederick Woods)

* สิ่งที่กำหนดความยิ่งใหญ่ประกอบด้วย ตัวบุคคลสภาพแวดล้อมทางสังคม และประวัติศาสตร์ (Spiller)

บุคลิกของผู้นำ

ลำดับลักษณะบุคลิกของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ อันได้แก่

1. ความเฉลี่ยวฉลาดมีปัญญา ปฏิภาณ

2. ความมั่นใจในตนเอง

3. สมาคมกับผู้อื่นได้ดี

4. มีเจตจำนงแน่วแน่

5. มองโลกตามความเป็นจริง

6. มีความเด่นหรือความมีอำนาจ

7. มีทัศนคติในเชิงบวกต่อมนุษย์ ฯลฯ

ทัศนะของ Harell ลักษณะบุคลิกที่จะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จ มี 4 ประการ คือ

1. มีเจตจำนงอันแน่วแน่

2. เปิดเผย

3. ต้องการอำนาจ

4. ต้องการความสำเร็จ

ผู้ตาม (The led)

ถ้าไม่มีผู้ตาม ย่อมจะมีผู้นำไม่ได้ ดังนั้นภาวะผู้นำ จึงมี ความสัมพันธ์กับผู้ตามอย่างใกล้ชิดและสัมพันธภาพระหว่างผู้นำ กับผู้ตามที่ดีนั้น ย่อมแปรไปตามชนิดหรือแบบของผู้ตาม

สถานการณ์ (Situation)

นอกจากลักษณะของผู้ตามแล้ว ลักษณะของสถานการณ์จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดประเภทหรือแบบของผู้นำ บุคคลหนึ่งอาจเป็นผู้นำในสถานการณ์หนึ่ง แล้วกลายเป็นผู้ตามในอีกสถานการณ์หนึ่ง สถานการณ์ที่แตกต่างกันต้องการผู้นำแบบต่างกันในหน่วยงานหรือองค์การหนึ่ง ๆ นั้นย่อมมีเหตุการณ์/สถานการณ์ที่แตกต่างกัน

กรอบทฤษฎีแบบของภาวะผู้นำตามสถานการณ์

แบบของภาวะผู้นำตามสถานการณ์จำแนกได้ต่าง ๆ กันดังนี้
1.แบบอัตตาธิปไทย(autocratic) ผู้นำแบบนี้จะทำการตัดสินใจด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาหารือกับสมาชิกกลุ่ม

2. แบบมีส่วนร่วม (participative) ผู้นำแบบนี้ จะทำการตัดสินใจโดยอาศัยความคิดเห็นจากสมาชิกภายในกลุ่ม

3. แบบเสรี (laissez faire) ผู้นำแบบนี้จะพยายามมอบความรับผิดชอบ ในการติดสินใจให้กับสมาชิกกลุ่ม พยายามกระทำให้สิ่งที่กลุ่มต้องการทำ

Reddin 3-D theory ซึ่งได้จำแนกภาวะผู้นำออกเป็น 4 กลุ่ม

(1) ภาวะผู้นำในสถานการณ์แบ่งแยก (Separated Situations) ซึ่งจะมีภาวะผู้นำ 2 แบบ

* แบบท้อแท้ – สิ้นหวัง (Deserter)

* แบบขุนนาง (Bureaucrat)

(2) ภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ต้องสัมพันธ์กับคน (People Related Situation)

* นักแสวงบุญ (Missionary)

* นักพัฒนา (Developer)

(3) ภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่อุทิศตนให้กับงาน (Dechicated task)

* อัตตนิยม (autocrat)

* เผด็จการ (แบบมีศิลป์) (Benevolent)

(4) สถานการณ์ผสมผสาน (Integrated Situations)

* นักบริหาร (Executive)

* นักประนีประนอม (Compromiser)

ระดับตำแหน่งกับภาวะผู้นำในองค์การ

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางด้านสถานการณ์นั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป ในองค์การหนึ่ง ๆ ก็เช่นกันและเพื่อความกระจ่างในประเด็นนี้ก็จะขอผ่านองค์การออกเป็น 3 ส่วน มีผู้บริหาร 3 ระดับใหญ่ ๆ คือ

1. ผู้บริหารระดับสูง (Top management)

2. ผู้บริหารระดับกลาง (Middle management) อันได้แก่ผู้อำนวยการกอง, หัวหน้าฝ่าย

3. ผู้บริหารระดับล่าง (Supervisory Level) อันได้แก่ หัวหน้างาน

ในการพิจารณาว่าผู้บริหารในระดับใด จำเป็นต้องมีทักษะในด้านใด เพื่อให้ภาวะผู้นำมีประสิทธิภาพนั้น ก็จะพิจารณาจากระดับของผู้บริหารดังกล่าว ซึ่งทักษะของผู้บริหารที่จำเป็นต้องมีนั้นมี 3 ประเภทคือ

1. ทักษะทางด้านความคิด (Conceptual skill)

2. ทักษะทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Human relations skill)

3. ทักษะทางด้านเทคนิค (Technical skill)

ผู้บริหารระดับสูง (Top management)

1. ผู้บริหารระดับสูงนั้นจะเกี่ยวข้องอยู่กับการจัดทำแผนแม่บทและการจัดรูป องค์การเพื่อการดำเนินงาน

2. บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งระดับนี้จะต้องอาศัยความช่วยเหลือในการอำนวยงาน และการควบคุมงานจากระดับรองลงมา

3. ผู้บริหารระดับนี้จำเป็นต้องมีทักษะทางด้านความคิดสูงกว่าระดับอื่น เพื่อใช้ในการกำหนดวัตถุประสงค์และภาพรวมของหน่วยงาน และเพื่อปรับปรุงองค์การให้สามารถดำรงคงอยู่และพัฒนา

ผู้บริหารระดับกลาง (Middle management)

1. บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางนี้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในลักษณะ ของจัดแจง (intermediary) ของผู้บริหารระดับสูงและระดับหัวหน้างาน

2. เป็นผู้นำนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงลงมาระดับล่าง และนำเอากรณีไม่ปกติจากระดับล่างขึ้นไปยังระดับสูง

3. พัฒนาระดับและกระบวนวิธีการปฏิบัติงาน นโยบายและมาตรฐานการปฏิบัติงานที่จะทำให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. งานของผู้บริหารระดับนี้ไม่ได้อยู่ที่การวางแผนจัดองค์กร อำนวยงาน และควบคุมเท่านั้น แต่ยังต้องประสานงานกับผู้ร่วมงาน staff

5. ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักบริหารระดับนี้คือ ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์

ผู้บริหารระดับหัวหน้างาน
(Supervisory Management)

1. เป็นระดับเดียวที่อยู่ระหว่างนักบริหารด้านหนึ่งและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ที่ไม่มีอำนาจ ในการบริหารอีกด้านหนึ่ง

2. เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันค่อนข้างมากในการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากระดับสูงให้บรรลุเป้าหมาย

3. เป็นผู้ที่ถูกลากระหว่าง 2 ฝ่ายไป 2 ทิศทางเสมอ ๆ

4. ผู้บริหารระดับหัวหน้างาน ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในลำดับขั้นของการบังคับบัญชา

5. เป็นสะพานเชื่อมระหว่างพนักงานปฏิบัติงานกับฝ่ายบริหาร

6. เป็นระดับที่ภาวะผู้นำต้องมี Technical skill สูงกว่าอีก 2 ระดับ