การวางแผนกลยุทธ์ เป็นงานที่สำคัญที่สุดของทีมการจัดการ
แต่น่าเสียดายสำหรับผู้ประกอบการที่เชื่อ การวางแผนยุทธศาสตร์ หรือการวางแผนกลยุทธ์ เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การวางแผนกลยุทธ์มีความสำคัญต่อธุรกิจ และสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่
การวางแผนกลยุทธ์เป็นเครื่องมือที่จะกำหนด และขับเคลื่อนองค์กรของท่านให้ไปยังเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต
การวางแผนกลยุทธ์ที่ดี จะสามารถนำเอาจุดแข็งของธุรกิจของท่าน ไปช่วงชิงโอกาสที่เป็นไปได้ในอนาคต ทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
การวางแผนกลยุทธ์ หรือ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ เป็นกระบวนการ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งภายในและภายนอก เพื่อหาตัวเองให้พบว่า ท่านคือใคร มีผลิตภัณฑ์อะไร อยู่ในอุตสาหกรรมอะไร ทำไมผู้บริโภคจึงซื้อแบรนด์ของท่าน สรุปว่าท่านมีจุดแข็งอะไร (Where are we now?)
และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกว่า จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มีโอกาสอะไรบ้าง แล้วท่านสามารถนำเอาจุดแข็งที่ท่านมี ไปเก็บโอกาสอะไรได้บ้าง ที่จะทำให้ท่านสามารถแตกต่างจากคู่แข่ง ดีกว่าคู่แข่ง และสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้โดนใจมากกว่า (Where we want to go?) ซึ่งไม่ใช่เก็บทุกโอกาส ควรจะเลือกโอกาสที่จะทำให้แบรนด์ของท่านโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
แล้วนำไปพัฒนาวิสัยทัศน์ (Vision) ว่า การที่จะทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ และสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงนั้น องค์กรของท่านควรจะมีลักษณะเป็นอย่างไรในอนาคต เช่น เป็นเลิศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์... ด้าน... เป็นเลิศในการลดต้นทุน เป็นเลิศในการบริการด้าน... เป็นเลิศในการตอบสนองความต้องการของกลุ่ม... ด้าน... ฯลฯ
จากนั้น กำหนดว่า การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ข้างต้นนั้นได้ ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งบางท่านเรียกว่า พันธกิจ(Mission ) กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ว่า ในอีก 3 – 5 ปี ข้างหน้า เช่น ท่านจะอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร ขอบเขตทางภูมิศาสตร์เท่าไร บรรลุยอดขายเท่าไร ส่วนแบ่งตลาดเท่าไร มีประเภทของผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง จำนวนเท่าไร
ขั้นตอนต่อไป คือ วางแผนกลยุทธ์ (How to go there?) หมายถึง เครื่องมือที่จะทำให้องค์กร หรือแบรนด์ของท่าน บรรลุเป้าหมายตามพันธกิจที่กำหนดไว้ เช่น
จะต้องเติบโต (Growth Strategy) ในอุตสาหกรรม... ผลิตภัณฑ์ประเภท... โดยการเจาะตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายขอบเขตและประเภทของตลาด
จะต้องตัดทอน (Retrenchment Strategy) ในอุตสาหกรรม... ผลิตภัณฑ์ประเภท... โดยการดูผลกำไร ไม่ต่ำกว่า... ส่วนแบ่งตลาด ไม่ต่ำกว่า... การเป็นผู้นำในตลาด ไม่ต่ำกว่าอันดับที่...
แล้วทำการสื่อสารให้ทีมงานทั้งหมอ รู้ เข้าใจ เห็นด้วย และช่วยกันไปลงมือดำเนินการ โดยการวางแผนประจำปีของแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก ให้สอดคล้องกัยกับแผนกลยุทธ์ขององค์กร
และสุดท้าย
ในการดำเนินการในแต่ละระยะ เช่น ทุกเดือน ควรจะตรวจสอบว่า ทุกส่วนงานได้ดำเนินงานตามแผนที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำ จะแก้ไขอย่างไร
และประเมินผล วัดผลของการดำเนินงานว่าได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผล จะแก้ไขอย่างไร
ทุกสิ้นปี เมื่อจะวางแผนของปีต่อไป ควรจะสรุปผลงานที่ได้ทำไปว่า บรรลุเป้าหมายเพียงไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และควรจะพัฒนา ปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อที่จะทำให้ทีมงานและองค์กรสามารถจะพิชิต พันธกิจ ให้ได้ดีกว่า หรือ เร็วกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อให้องค์กรสามารถเพิ่มศักยภาพในการบรรลุ วิสัยทัศน์ ได้ในที่สุด
ประโยชน์ของการวางแผนสามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
องค์กรจะไม่ทราบว่า ตัวเองอยู่ในธุรกิจอะไร ตั้งใจจะทำอะไร อย่างไร กำลังดำเนินการอย่างไร ที่จะเป็นไป หรือจะให้เป็นอย่างไร หากองค์กรที่มีการกำหนดและตรวจสอบเป้าหมายเป็นระยะ ๆ
การวางแผนกลยุทธ์ จะช่วยให้ทีมงานสามารถช่วงชิงโอกาสที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่จะเกิดในอนาคต มาเป็นประโยชน์และเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กร โดยการ จัดสรร และทุ่มเททรัพยากรที่สำคัญขององค์กร เช่น เวลา คนที่มีความสามารถและเงินให้กับสินค้า แบรนด์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้การจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าการลงทุน
การวางแผนกลยุทธ์สะท้อนถึง บุคคลิก หรือรูปแบบเชิงรุก ของทีมบริหาร ที่คาดการณ์และวางแผนรับมือต่อเหตุการณ์ในอนาคต ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับ รอแก้ ตามปัญหาที่เกิดขึ้น
การบริหารเชิงรุก สามารถลดเหตุการณ์ แตกตื่นตามสถานการณ์ได้ โดยการทำงานตามแผนและขั้นตอน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ยอดขาย งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และจำนวนเงินทุน ที่จะลงทุนในด้านต่างๆ จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในระยะยาวได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายไปในการคิดค้น สร้าง ผลิต โฆษณา ฯลฯ ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่จุดแข็ง และอนาคตขององค์กร
แผนกลยุทธ์ธุรกิจ เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และจะกลายเป็น “แผนที่สู่ความสำเร็จ” (Road Map)
คุณแผนกลยุทธ์ธุรกิจ จะช่วยให้คุณบรรลุวิสัยทัศน์ได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังสามารถจัดทำ และแสดงเอกสารต่างๆที่จำเป็น ในการสนับสนุนว่าจะสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ได้อย่างไร ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียของคุณ(Stakeholders) อันได้แก่ ธนาคารผู้ให้กู้ เจ้าหนี้ ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานของบริษัท มีความเข้าใจ เชื่อใจ และรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยที่ได้ทำธุรกิจร่วมกับท่าน เพราะเขาเข้าใจที่ดีขึ้น และได้เห็นถึงวิวัฒนาการความสามารถของค์กรที่จะไปบริหารโอกาส อุปสรรค รวมถึงความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสภาพสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา