Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กลุ่มเป้าหมาย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กลุ่มเป้าหมาย แสดงบทความทั้งหมด

5 ปัญหายอดฮิตในธุรกิจ

5 ปัญหายอดฮิตในธุรกิจ และวิธีแก้ไขเบื้องต้น

การที่นักธุรกิจเริ่มต้นหลายคนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาจนทำให้รู้สึกหมดกำลังใจ อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้วางแผนในการ เตรียมรับมือกับปัญหาเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า หรือแผนที่เตรียมไว้เก่าเกินกว่าที่จะนำมาใช้ในปัจจุบันที่ได้กลายเป็นยุคออนไลน์ไปแล้ว ทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้จึงเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักต้องเผชิญอยู่บ่อยๆ พร้อมทั้งวิธีแก้ปัญหา ว่าถ้าเกิดขึ้นมากับเราจะมีวิธีเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันความเสียหายจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

 ภาพจาก: waterwelljournal.org

  • เงินหมุนเวียน 


ปัญหายอดฮิตที่สามารถเกิดขึ้นกับธุรกิจทุกชนิดทุกประเภทที่เพิ่งเปิดใหม่หากไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่สำหรับธุรกิจที่มีประสบการณ์เองถึงแม้ว่าจะวางแผนมาดีสักแค่ไหนก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้จากการขาดแคลนเงินหมุนเวียนในระบบถ้าหากประมาทและไม่ดูแลต่อเนื่อง จนทำให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะนำไปชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดในแต่ละเดือน

ซึ่งถ้าเราบริหารปริมาณเงินที่เข้า-ออกไม่ดีก็มักเกิดปัญหานี้อยู่เสมอ โดยส่วนมากมักเป็นเพราะบรรดาลูกหนี้หรือลูกค้าของเราจ่ายเงินเราล่าช้า แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ซัพพลายเออร์หรือเจ้าหนี้ของเราจะมาสนใจ ทำให้เราอาจต้องเจอความยากลำบากในการชำระหนี้ให้ได้ตรงกำหนดอย่างที่เราตั้งใจ

วิธีแก้ไข: ลองค้นหามุมมองวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ให้มากที่สุดโดยสังเกตข้อมูลจากบัญชีงบดุล และบัญชีรายได้ เพื่อดูว่าเรามีช่องโหว่อะไรบ้าง ในด้านการเงินและความคล่องตัวของกระแสเงินสด เช่นอาจจะมีช่วงเวลาที่เราต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้น้อยกว่าเวลาที่เราได้รับเงินจากลูกหนี้มาแค่ไหน ลองตั้งกรอบของปัญหาขึ้นมาแล้วค่อยๆ แก้ไปทีละขั้นอย่างเป็นระบบ เช่น ถ้าเราพบว่าปัญหานั้นเกิดจากลูกหนี้ที่ชำระเงินช้าก็ควรเข้าไปแก้ในจุดนั้น ด้วยวิธีการควบคุมเงินหมุนเวียนในระบบดังนี้

• ถ้าหากจำเป็นต้องใช้เงินในขณะนั้น อาจยื่นขอเสนอส่วนลดให้กับลูกหนี้ ถ้าหากพวกเขาสามารถชำระหนี้ได้ก่อนเวลาที่กำหนด
• ใช้ระบบเดียวกับธนาคารที่กำหนดวงเงินการกู้-ยืม ซึ่งสำหรับในธุรกิจเราก็สามารถกำหนดวงเงินสูงสุดที่จะสามารถให้ลูกค้าเป็นหนี้กับเราได้ หากเกินจากนี้ต้องชำระของเก่าที่ค้างไว้ก่อนจึง จะสามารถเปิดออเดอร์เพิ่มเติมได้ เป็นต้น
• เสนอรูปแบบของการทำธุรกรรมการเงินใหม่ๆ ที่สะดวกมากยิ่งขึ้นให้กับลูกหนี้ เช่น การโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ ibanking หรือใช้บริการอย่าง paypal เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และติดตามได้ง่ายไม่ลืม
• มีกระบวนการจัดการใบแจ้งหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่สามารถติดตามลูกหนี้และกำหนดการการจ่ายหนี้เมื่อถึงกำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนมากมักเป็นเพราะบรรดาลูกหนี้หรือลูกค้าของเราจ่ายเงินเราล่าช้า แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ซัพพลายเออร์หรือเจ้าหนี้ของเราจะมาสนใจ



ภาพจาก: www.cido.co.uk

  • ไม่ระบุกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน


ยังมีบริษัทอีกมากที่ไม่สามารถบอกกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ เขาเหล่านั้นทำตัวเองให้เหมือนเรือที่ลอยค้างอยู่กลางทะเลแบบไม่มีจุดหมาย จะวางแผนอะไรก็ได้ไม่ชัดเจน ทำการตลาดก็ลำบาก เพราะไม่รู้ว่าใครที่เป็นลูกค้าของเราจริงๆ ทำให้พัฒนาสินค้าหรือบริการได้ลำบาก

นักธุรกิจเริ่มต้นสายไอทีมักใช้วิธีคาดหวังกับกลุ่มลูกค้าใน Niche Market (นีช) หมายถึงธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเล็ก แคบ แต่ชัดเจน เป็นกลุ่มคนที่มีรสนิยมและความชอบเฉพาะตัวสูงมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่พวกเขาคลั่งไคล้เหมือนๆ กัน เช่น กลุ่มคนที่หลงใหลใน Figure ตัวการ์ตูน กลุ่มคนที่รักในการเย็บปักถักร้อย เป็นชีวิตจิตใจ เป็นต้น ธุรกิจที่สร้างขึ้นแล้วบอกว่าตัวเองเป็นธุรกิจแบบ Niche นั้นดูเหมือนจะปลุกปั้นได้ง่ายกว่า ทว่าผลสุดท้ายเมื่อโปรแกรมของบริษัทเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบ “ทุกคน” จะกลายเป็นลูกค้าของเราไปเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ App ที่มีชื่อเสียงอย่าง Facebook หรือ Instagram ที่ตอนเริ่มต้นนั้นตั้งเป้าไว้กับกลุ่มเป้าหมายเล็กมาก ทำให้เขารู้ทิศทางที่จะไป และอ่านใจเฉพาะคน กลุ่มนี้ได้อย่างเด็ดขาด และลงมือได้อย่างมั่นใจและเต็มที่

วิธีแก้ไข: การสร้างธุรกิจแบบ Niche ขึ้นมานั้นก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้าในอุดมคติของเรานั้นเป็นใคร และเราจะหาหรือไปพบพวกเขาได้จากที่ไหน เช่น ถ้าเราทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมของวัยรุ่นแล้ว คิดให้ดีว่าแท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายของเราคือใครหลายคนอาจมองว่าเป็นวัยรุ่นทั้งที่ไม่ใช่คำตอบที่ถูก เพราะกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของเราควรจะเป็นพ่อ แม่ที่จะพาวัยรุ่นเข้ามารับคำปรึกษามากกว่า ดังนั้นการจะทำการตลาดก็ต้องมองถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่น การลงโฆษณาในนิตรสารที่พ่อ แม่ ชอบอ่าน หรือตามโรงเรียนต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมสมาคมผู้ปกครองหลายๆ แห่ง เพื่อทำการโปรโมทถึงบริการของเราด้วย

2 วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรารู้ว่าที่จริงแล้วลูกค้าเราเป็นใครกันแน่

• ในการโฆษณาต้องบอกรายละเอียดให้ชัดเจนว่าสินค้าและการบริการของเราเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่จะได้ดึงคนที่สนใจเข้ามาจริงๆ

• ลองยิงโฆษณาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยอาจลองใช้คำค้นหาและภาษาเฉพาะกลุ่มที่น่าจะทำให้เราแบ่งแยกเพศ วัย ความสนใจ หรือตำแหน่งที่อยู่ของลูกค้าที่มีความต้องการตรงกับการบริการของเราได้มากขึ้น


ยังมีคนอีกมากที่ตั้งลูกค้าเป้าหมายของเขาเป็น “ทุกคนบนโลกนี้” ซึ่งมันผิดนะ


 
 ภาพจาก: www.doitmarketing.com

  • ไม่รู้จักการตลาดแบบบอกต่อ (Referral Marketing)


ถ้ายังจำกันได้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการใช้การตลาดที่เราเรียกกันว่า “Cold Calling” หรือการใช้เซลล์เดินเคาะประตูขายของตามบ้านกันอย่างแพร่หลาย แต่ถ้าในปัจจุบันยังดึงดันที่จะเอามาใช้ อาจจะมีผลให้ธุรกิจเราถูกมองในแง่ลบเลยก็เป็นไปได้ ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบกับการตลาดแบบบอกต่อแล้ว ยิ่งมีประสิทธิภาพต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

ถ้าเปรียบว่าการใช้แผนการตลาดเหมือนการปลูกหญ้าแล้ว การใช้วิธีทางการตลาดแบบบอกต่อก็เหมือนการหว่านพืชจำนวนมากๆ บนพื้นที่สัก แปลงหนึ่ง ย่อมง่ายกว่าการไปปลูกหญ้าทีละต้นบนพื้นสนามที่มีลักษณะเหมือนการใช้วิธี “Cold Calling” แน่ๆ ถึงแม้ว่าการปลูกแบบหว่าน อาจมีบางจุดที่หญ้าอาจไม่ขึ้น แต่เมื่อนึกถึงผลลัพธ์สุดท้ายแล้ว ก็เป็นการกระจายผลได้ในปริมาณที่มากกว่าด้วยการลงทุนลงแรงที่น้อยกว่าอยู่ดี


วิธีแก้ไข: สร้างเครือข่ายจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา เพื่อให้มีคนรู้จักเราในวงกว้างมากขึ้น เช่น ถ้าเราเปิดอู่ซ่อมรถ ก็อาจจะไปทำข้อตกลงกับโชว์รูมรถ ว่าถ้าซื้อรถจากโชว์รูมแห่งนี้ จะได้สิทธิพิเศษ (เช่น เติมน้ำมันเครื่องฟรี 3 เดือน) วิธีนี้จะทำให้ทั้งอู่ของเราและโชว์รูมรถกลายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนที่ต้องการจะซื้อรถในวงกว้าง รวมทั้ง อาจใช้วิธีติดต่อกับนิตยสารรถยนต์เพื่อลงโฆษณาให้คนรู้จักเรามากขึ้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดประโยชน์กับเราและธุรกิจที่เราสร้างเครือข่ายไว้ด้วย

การตลาดแบบบอกต่อก็เหมือนการหว่านพืชจำนวนมากๆ บนพื้นที่สักแปลงหนึ่ง 
ย่อมง่ายกว่าการไปปลูกหญ้าทีละต้นบนพื้น


 
 ภาพจาก: www.designdecoy.com

  • ไม่มีแผนการทำ Social Media


การทำ Social Media ของธุรกิจถือเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลถึงเป้าหมายธุรกิจและการสร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักเป็นอย่างมาก การใช้ social media อย่างไม่มีแบบแผน เช่น การโพสต์ข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบ่อยๆ หรือการโพสต์เนื้อหาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายหรือแบบแผนที่ชัดเจน นอกจากจะทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพแล้วยังเป็นการใช้เวลาและทรัพยากรโดยไม่เกิดประโยชน์อีกด้วย

วิธีแก้ไข: ลองเริ่มต้นใหม่จากการลิสต์สิ่งที่เราต้องการจากการทำ Social Media มาก่อนว่าเราต้องการอะไร อยากให้มีคนรู้จักเรามากๆ หรืออยากสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จากนั้นดูต่อว่า Social Media ไหนที่เหมาะกับเรา ถ้าอยากได้วงกว้างๆ ใช้ Facebook หรือ Twitter ดีไหม ถ้าอยากให้คนวงการแฟชั่นหรืองานศิลปะสนใจใช้ Instragram หรือ Pinterest แทนดีหรือเปล่า มีแผนการตลาด Social Media ของเจ้าไหนบ้างที่เราอยากนำมาลองปรับใช้ให้เข้ากับเราดู ซึ่งเมื่อได้คำตอบเหล่านี้จะช่วยบีบวงลูกค้าของเราให้แคบลงจนเหลือแต่กลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ ซึ่งเราควรให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณคนเข้าชมเสมอ

การโพสต์เนื้อหาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายหรือแบบแผนที่ชัดเจน นอกจากจะทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพแล้วยังเป็นการใช้เวลาและทรัพยากรโดยไม่เกิดประโยชน์อีกด้วย


 
 ภาพจาก: www.ehow.com

  • ไม่มีการวางแผนในระยะยาว


การดำเนินธุรกิจไปโดยไม่ได้วางแผน สักวันหนึ่งธุรกิจคงติดอยู่กับที่เพราะไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไรต่อไปในอนาคตที่ไม่มีจุดหมายที่แน่นอน แตกต่างกับธุรกิจส่วนมากที่ประสบความสำเร็จที่จะมีการวางแผนตลอดเวลาและไม่มีทาหยุดนิ่ง เนื่องจากสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดทำให้แผนต่างๆ ที่มีต้องคอยปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

การแก้ไข: การวางแผนที่ดีนั้นจะช่วยให้ธุรกิจของเราสามารถควบคุมอนาคตของบริษัทได้ และถ้าดำเนินตามแผนที่ตั้งไว้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะพาเราไปสู่จุดหมายและความสำเร็จได้ไม่ยาก และนี่คือ 6 คำแนะนำที่จะช่วยให้เราวางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น

• มีการประเมินสภาพธุรกิจอยู่บ่อยๆ ว่าตอนนี้ได้กำไร ขาดทุน หรือมีสภาพคล่องทางการเงินเป็นอย่างไรบ้าง
• ให้ความสำคัญกับการทำ SWOT: Strength (จุดแข็ง), Weakness (จุดอ่อน), Opportunity (โอกาส), Threat (ความเสี่ยง)
• มีการกำหนดเป้าหมายของการทำธุรกิจให้แน่ชัด และต้องนำมาวิเคราะห์ใหม่อยู่ตลอด ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร
• เริ่มต้นจากการวาดภาพรวมคร่าวๆ ในหัวตั้งแต่ต้นจนจบว่าธุรกิจเราจะดำเนินไปในทางใด ก่อนที่จะลงรายละเอียดในเวลาต่อมา
• ควรกำหนดเป้าหมายย่อยๆ ไว้ระหว่างดำเนินไปถึงเป้าหมายใหญ่ เพื่อที่จะสามารถวัดได้ว่าตอนนี้เรามาได้กี่เปอร์เซ็นแล้ว และมีอะไรที่ยังต้องปรับปรุงอยู่บ้าง
• วางแผนต่อๆ ไป และพยายามทำให้ได้ตามแผนนั้น
ควรกำหนดเป้าหมายย่อยๆ ไว้ระหว่างดำเนินไปถึงเป้าหมายใหญ่

• • • • • • • • • • • • • • •

อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ในการทำธุรกิจเราไม่อาจเลี่ยงได้ แต่การวางแผนแล้วคิดถึงปัญหาที่อาจจะเกิด พร้อมเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ก็จะ ช่วยให้ผลของความเสียหายที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้มีน้อยลง หรืออาจไม่เกิดเลยก็ได้ ดังนั้น เมื่อไรที่เกิดปัญหาจึงควรใช้สติและคิดให้รอบคอบก่อนทำการตัดสินอะไรลงไป จากนั้นปรับตามแผนที่เตรียมไว้ดูว่าผลสุดท้ายจะมีทิศทางไปอย่างไร


ที่มา : INCquity
incquity.com