Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แสดงบทความทั้งหมด

บทเรียนจากเอเวอร์แกรนด์



 ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวในแวดวงธุรกิจข่าวไหนจะดังยิ่งกว่าข่าวการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับสามของจีน

.
บริษัทไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เดิมชื่อ เฮงดากรุ๊ป (Hengda Group) ก่อตั้งในปี 1996 โดย สวี่ เจียยิ่น (Xu Jiayin) หรือหากอ่านเป็นภาษาจีนกวางตุ้งจะเป็น ฮุยกาหยาน (Hui Ka Yan) ปัจจุบันอายุ 63 ปี หากท่านอ่านข่าวแล้วงงว่าประธานบริษัทชื่ออะไรกันแน่ ทั้งสองชื่อเป็นคนเดียวกันค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าจะอ่านเป็นภาษาจีนกลาง หรือจีนกวางตุ้ง
.
บริษัทเอเวอร์แกรนด์ ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเติบใหญ่จนเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี พ.ศ. 2552 ใช้รหัส 3333:HK ในขณะนั้นมียอดขายปีละ 30,300 ล้านหยวน หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท และได้เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนขยายอาณาจักรไป ลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในเมืองกวางโจว และถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์
.
บริษัทสร้างที่อยู่อาศัยไปมากกว่า 1,300 โครงการ ใน มากกว่า 280 เมืองทั่วประเทศจีน และมีรายได้ในปี 2563 เท่ากับ 507,248 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิในปี 2563 เท่ากับ 8,076 ล้านหยวน หรือประมาณ 41,590 ล้านบาท แต่อัตรากำไรสุทธิต่ำมากคือ 1.59% (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก)
.
บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยอาศัยเงินทุนหมุนเวียนจากการกู้ยืม มียอดหนี้มากกว่า 1.95 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในสามของเงินกู้ยืม เป็นการกู้จากนอกตลาด หรือเรียกว่า shadow loan ซึ่งทางการจีนเข้าควบคุมเข้มงวดตั้งแต่ปี 2019 จึงทำให้แหล่งเงินกู้ยืมนี้เหือดหายไป
.
ข้อมูลจากบีบีซีแสดงว่า บริษัทเป็นหนี้ธนาคารจีน 171 แห่ง และเป็นหนี้บริษัทเงินทุนอีก 121 แห่ง
.
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการออกหุ้นกู้ขายจำนวนมาก โดยบริษัทเป็นผู้ออก Junk Bond รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย
.
อาการของ เอเวอร์แกรนด์เริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปี 2020 ที่บริษัทจะนำบริษัทลูกเข้าตลาดแบบแบคดอร์ (backdoor) แต่เข้าไม่ได้ จึงต้องจ่ายเงินคืนผู้ลงทุน ประกอบกับหนี้ของบริษัทถึงกำหนดชำระในปี 2020 จำนวนมาก บริษัทขาดสภาพคล่องและเริ่มเกิดการค้างจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า บางโครงการถูกระงับไม่ให้ขายต่อ เนื่องจากทางการท้องถิ่นต้องการปกป้องผู้ซื้อที่วางเงินดาวน์ไว้แล้ว ทำให้บริษัทต้องหาเงินไปเติมในบัญชีพักเพื่อประกันว่าบริษัทจะสร้างบ้านได้เสร็จ (บัญชีเอสโครว์)
.
ทางออกของบริษัทคือต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำมาใช้เป็นสภาพคล่อง จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย และนำมาหมุนเวียนดำเนินงานต่อไป เนื่องจากทรัพย์สินของบริษัท 2.3 ล้านล้านหยวน ยังมีสินทรัพย์ที่สามารถขายได้ ทั้งที่ดินเปล่าที่ซื้อไว้ ทั้งเงินลงทุนในบริษัทต่างๆ แต่การขายทรัพย์สินในยามนี้มิใช่ทำกันได้ง่ายๆ หรือได้ราคา เพราะวิกฤติโควิด ก็ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา มีสินทรัพย์รอขายมากมาย การจะขายสินทรัพย์ให้ได้ราคาที่เหมาะสมเพื่อมาคืนหนี้จึงทำได้ยากค่ะ
.
ณ ปัจจุบัน หุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐของบริษัทมีราคาลดลงเหลือประมาณ 20% ของเงินต้น และราคาหุ้นลดจาก 17.76 เหรียญฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว เหลือล่าสุด 2.95 เหรียญฮ่องกง ก่อนถูกสั่งให้หยุดการซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม
.
มีการคาดหวังให้ทางการจีนเข้าไปอุ้ม แต่นักวิเคราะห์ต่างคาดเดาว่า คงเป็นไปได้ยาก อาจมีการดูแลบางส่วน เช่น ผู้ซื้อบ้าน หรือผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย แต่คงไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นกู้เพราะชอบใจในผลตอบแทนที่ให้ไว้ค่อนข้างสูง (10-12% ต่อปี) หรือเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน
.
นอกจากนี้ เมื่อทางการจีนประกาศนโยบาย สร้างความอยู่ดีกินดี แบ่งปันความมั่งคั่งให้ถ้วนหน้าออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ยิ่งทำให้การเข้าไปอุ้มบริษัทเอกชน เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เพราะจะขัดกับหลักการที่ประกาศไว้
.
บริษัทคงต้องซื้อเวลาด้วยการขยายกำหนดเวลาจ่ายคืนหนี้สินต่างๆ รอขายทรัพย์สินที่มี เพื่อนำสภาพคล่องมาใช้ดำเนินการ เพื่อให้บริษัทเก็บเงินค่าขายบ้าน และนำไปใช้คืนเจ้าหนี้ต่อไป
.
คาดว่าเจ้าหนี้จะได้เงินคืน แต่จะได้คืนครบหรือไม่ ได้ดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด ต้องขึ้นอยู่กับราคาสินทรัพย์ที่จะขายได้ค่ะ
.
เบื้องต้น กรณีนี้มีสองบทเรียน
.
บทเรียนแรก “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” ผู้ลงทุนจึงต้องประเมินความเสี่ยงในการลงทุน จะลงทุนเพราะเห็นว่าจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงอย่างเดียวไม่ได้
.
บทเรียนที่สอง กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า “ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม” หรือ Too big to fail ที่เคยใช้กันมาตลอดว่า หากนิติบุคคลใดนิติบุคคลหนึ่ง มีขนาดใหญ่มาก มีการทำธุรกรรมเกี่ยวข้อกับระบบสถาบันการเงินและผู้ลงทุนจำนวนมาก หากปล่อยให้ล้มหายตายจาก หรือเป็นอะไร ไป จะส่งผลกระทบต่อระบบ ดังนั้น จำเป็นต้องพยุงรักษาไม่ให้ล้ม ที่เคยใช้กันมาในอดีตนั้น อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคหลังโควิดนี้ค่ะ เพราะหากอุ้ม คงต้องอุ้มกันมากมาย
.
ผู้แข็งแกร่ง ปรับตัวได้ ผู้ที่สะสมทุนไว้มาก มีความมั่นคง เหมือนต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก เมื่อมีพายุ ก็จะฝ่าฟันไปได้ ต้นไม้เล็กๆ ยังมีรากที่ไม่มั่นคง อาจต้องล้มหายตายจากไปบางส่วน หากฝ่าฟันพายุไปได้ในคราวนี้ ในอนาคต ก็น่าจะมีโอกาสเติบใหญ่ แข็งแรงต่อไป
.
“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้นจริงนักแล
.
คงต้องติดตามกันต่อไปค่ะ
.
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นกรณีศึกษา มิได้มีความประสงค์จะเชิญชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว
.
บทความโดย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ | MoneyPro
.
.