ถอดสูตร 'เร่ง' ความรวย..
การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่คน รุ่นใหม่คุ้นเคยกันแล้ว แต่หากจะ ”ก้าวไปอีกขั้น" เช่น กำหนดเป้าหมายความรวย เป็นเศรษฐีมีเงิน 1 ล้าน 5 ล้าน 10 ล้านบาท จะสร้างความรวยแบบติดสปีด หรือรวยแบบพอดี ไม่ปล่อยให้ความมั่งคั่งผ่านหน้าไปเฉยๆ ก็มีกลุยทธ์การออม วิธีลงทุน ซึ่งนักการเงินได้วางแผนให้แบบมืออาชีพ
หากลงมือทำและทำสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเกิดภาวะเช่นใด ตลาดหุ้นผันผวน อสังหาฯ ตกต่ำ หรือเศรษฐกิจชะลอตัว ก็ยังไปสู่เป้าหมายนั้นได้
อยาก จะ "รวย" เป็นเศรษฐีเงิน 10 ล้าน จึงไม่ได้เป็นเรื่อง “ไกลตัว” อีกต่อไป หากรู้จักการวางแผนการเงิน หาช่องทางลงทุน ตลอดจนจัดพอร์ตลงทุน ให้ถูกจังหวะ ถูกวิธี
สูตรสู่ความรวยมีหลากหลายวิธี สำหรับ "นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" เจ้าตำรับนักลงทุนหุ้นมูลค่า(Value Investor) คนแรกของเมืองไทย ได้สร้างสูตร "เร่ง" ความรวย ไว้ 3 สเต็ปด้วยกัน
สเต็ปแรก.."เซฟรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่ม" ด้วยการเก็บเงินที่ได้จาก "น้ำพักน้ำแรง" ให้เป็นเม็ดเงินมากที่สุด..
นั่นคือ ต้องหารายได้ให้มากที่สุด และจ่ายให้น้อยที่สุด
"ใน การหารายได้นั้น ถ้าหากเป็นคนเก่งควรจะต้องพยายามทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้รับการโปรโมทให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น และอาจจะทำให้มีโอกาสย้ายงานไปในที่ที่ให้เงินเดือนสูงขึ้น เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้นและการย้ายงานจะเป็นหนทางทำให้รายได้เพิ่มขึ้นแบบ ก้าวกระโดด
ถ้าคุณมีศักยภาพที่จำกัด อาจใช้วิธีหารายได้เสริมนอกเหนือจากงานในหน้าที่ประจำ ก็จะเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ ขณะที่ต้องควบคุมรายจ่ายไม่ให้เพิ่มเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ถ้าทำได้แบบนี้จะทำให้กระแสเงินจากน้ำพักน้ำแรงเพิ่มขึ้นเร็วมาก"
ขณะ เดียวกัน นอกจากเก็บออมเงินด้วยการสมทบเงินเข้า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เดือนละ 3-5% ต่อเดือนแล้ว หากต้องการมีเป้าหมายเพื่อใช้ชีวิตที่สุขสบายเมื่อเกษียณ นิเวศน์บอกว่าแม้บริษัทจะสมทบให้อีกเท่าตัว แต่ควรจะเก็บเงินส่วนตัวเพิ่มอีก 10% ของเงินเดือน จะทำให้มีชีวิตในบั้นปลายอย่างพอใช้หรือระดับปานกลาง
แต่หากต้องการเร่งความรวยขึ้นไปอีก นิเวศน์บอกว่า ต้องวางแผนการใช้เงิน และใช้วิธีออมเงินแบบ "ตึง" หรือ "เร่งเต็มที่"
"แบบ ตึงคือ มีเป้าหมายในชีวิตที่จะเร่งความรวย อันนี้ต้องเก็บออมให้มากสุด บอกไม่ได้ว่าเท่าไร ขึ้นอยู่กับภาระของแต่ละคน แต่ความเห็นของผมคือ ถ้าจะเร่งความรวย ต้องตัดรายจ่ายใหญ่ๆ 3 รายการออกไปก่อน คือ ผ่อนบ้าน รถยนต์ และท่องเที่ยว หรือใช้จ่ายให้น้อยที่สุด หากตัดรายการพวกนี้ออกไปได้จะทำให้ไม่มีภาระใช้จ่าย
การใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ให้ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น แต่ต้องเก็บให้มากที่สุด"
ใน ทางกลับกัน หากไม่ได้เร่งหรือออมเงินแบบหย่อนยาน เช่น การแช่เงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียว จะทำให้มีเงินไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ
นี่คือ แนวทางสร้างความรวยในขั้นแรกที่ "ไม่มี" ความเสี่ยง แต่เขาบอกว่าหากไม่เร่ง หรือวางแผนการเงิน ก็จะได้ผลตอบแทนไม่เพียงพอใช้จ่ายในอนาคต
จึงมาสู่ "สเต็ปสอง"..การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Assets allocation) โดยนำเงินก้อนที่เก็บออมมาได้ ไปจัดสรร หรือจัดสำรับลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
แนวทางนี้เป็นเส้นทางสร้างความรวย "สายกลาง" หรือแบบมาตรฐาน ตามแบบฉบับ "นักการเงิน" มืออาชีพ
"เส้น ทางสายกลางนี้จะเป็นการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสม โดยให้ "คนอื่นลงทุน" ให้เรา เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ อาจไม่ต้องเชี่ยวชาญด้านลงทุนส่วนตัว เพียงแต่รู้ว่า แต่ละกลุ่มสินทรัพย์มีความเสี่ยง และผลตอบแทนเป็นอย่างไร"
หลักคิด ง่ายๆ ในการจัดสรรเงิน นิเวศน์แนะนำให้กระจายไปยังตราสารหลักต่างๆ 3 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินสด พันธบัตรและตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และหุ้น
โดยอาจจะเป็นการลงทุนใน "กองทุนรวม" ประเภทต่างๆ ที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ
นิเวศน์ บอกว่า การจัดสรรสินทรัพย์ให้เหมาะสมตามสูตรของนักการเงินจะจัดสัดส่วนเงินลงทุนใน "หุ้น" ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ
หลักการคือ ใช้วิธีพิจารณา "อายุ" ของผู้ลงทุนเป็นเกณฑ์ เนื่องจากผู้ลงทุนอายุยังน้อย หากขาดทุนก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ใหม่ โดยแนวคิดทางการเงินทั่วไป จะเอา 100 ลบด้วยอายุผู้ลงทุน หรือ 80, 60 ลบอายุ จะได้สัดส่วนการลงทุนในหุ้น หรือวันที่เราตายต้องไม่มีหุ้นเหลืออยู่
เช่น ปัจจุบันอายุ 25 ปี นำ 100 มาลบก็จะได้สัดส่วนลงทุนในหุ้น เท่ากับ 75% หรือพออายุเพิ่มขึ้นเป็น 40 ปี เมื่อเอา 100 ไปลบ เท่ากับ 60% ที่จะลงทุนในหุ้น
หรือถ้านำ 80 ลบอายุ 30 ปีจะเท่ากับลงทุนในหุ้น 50%
"โดย หลักการอายุน้อยเสี่ยงได้มาก แต่อายุมากอย่าเสี่ยงมาก เพราะเมื่อหุ้นตกขาดทุน หรือเกิดวิกฤติ เราจะไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เพราะไม่มีโอกาสทำงานแล้ว"
เมื่อจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นได้แล้ว..
ต่อมา..จัดสรรเงินลงทุนในพันธบัตรและถือเงินสด ซึ่งสัดส่วนลงทุนนี้จะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากที่สุด
นิเวศน์ บอกว่า สัดส่วนเงินสดไม่ควรจะเกิน 20% เพื่อให้มีสภาพคล่อง หรือเก็บสำรองไว้เพื่อโอกาสลงทุนเพิ่ม ส่วนเงินที่เหลือจะเป็นเงินลงทุนในพันธบัตร หรือลงทุนในตราสารซิเคียวริไทเซชั่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้จากค่าเช่า ซึ่งจะมีความมั่นคง รายได้ผันผวนไม่มาก
เมื่อจัดสรรเงินลงทุนได้แล้ว จากนั้นก็พยายามรักษาสัดส่วนลงทุนนั้นไว้
"นี่คือ เส้นทางสายกลางในการจัดสรรเงิน มองโดยทั่วไปเป็นเส้นทางที่ใช้ได้ ไม่เร่งเกินไป ไม่หย่อนเกินไป เป็นสายมาตรฐาน
การ ลงทุนแบบทางสายกลางนี้จะมีความเสี่ยงไม่สูง ผลตอบแทนอยู่ในระดับ 6-7% ต่อปี เทียบกับทางสายหย่อนคือ การฝากเงินอย่างเดียว จะได้ผลตอบแทนราว ๆ 2-3% ต่อปี"
อย่างไรก็ตาม หากต้องการ "เร่ง" ความรวยสำหรับการลงทุนตามเส้นทางสายกลางก็สามารถทำได้
นิเวศน์ บอกว่า ผู้ลงทุนสามารถเร่งความรวย "เต็มพิกัด" ในเส้นทางสายกลางนี้ได้ โดยใช้วิธีใส่เงินลงทุนในกองทุน "หุ้น" ให้มีสัดส่วนมากสุดถึง 90% และถือเงินสด 10%
ถ้าลงทุนแบบนี้ จะทำให้ได้ผลตอบแทนในระยะยาวเพิ่มเป็น 10% หรือผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นมาอีกราว 3-4% ขณะที่ทางสายกลางจะได้เพียง 6-7% ต่อปี
"ความเสี่ยงของทางสายเร่งนี้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเสี่ยงสูงมาก แต่ความจริงแล้วถ้าลงทุนในระยะยาว 20-30 ปี ทางสายเร่งนี้ก็ไม่เสี่ยง จากการติดตามการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก การลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารอื่นทุกชนิด
หรือ อย่างกรณีตลาดหุ้นไทย 30 ปีที่ผ่านมา ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกาเฉลี่ย 11% ต่อปี ส่วนตลาดอื่นๆ 6-7% ต่อปี เท่ากับว่าลงทุนในทางสายเร่งนี้ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณนี้"
สเต็ปสาม.. ลงทุน "ด้วยตัวเอง" แบบโฟกัส และใช้แนวทางการลงทุนแบบ "เน้นมูลค่า" ( Value Investment )
นิเวศน์ บอกว่า ถ้าต้องการจะ "เร่งความรวย" อย่างเต็มพิกัดขึ้นไปอีก ก็ต้องใช้วิธีการลงทุนด้วยตัวเอง จะต้องเรียนรู้การลงทุนแบบ แวลู อินเวสเมนท์ หรือลงทุนแบบ "เน้นคุณค่า" ในตราสารทุกประเภท
"ไม่ว่า จะลงทุนในอะไรก็ตาม ต้องใช้หลักการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" เช่น พันธบัตร ซิเคียวริไทเซชั่น อสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องเป็นแนวเน้นมูลค่า หมายความว่า ทุกครั้งที่เลือกลงทุนจะต้องศึกษาหามูลค่าที่แท้จริงของตราสาร ศึกษาถึงพื้นฐานของมันจริงๆ
คือ ตราสารที่ซื้อจะสร้างกระแสเงินสด จ่ายมาเป็นปันผล หรือผลตอบแทนให้แก่เรามากน้อยแค่ไหน เติบโตแค่ไหน และเราต้องพยายามซื้อตราสารที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง"
นิเวศน์ บอกว่า เมื่อต้องการเร่งความรวยอย่างเต็มที่ และรวยเร็วที่สุด จะต้องลงทุนใน "หุ้น" ด้วยตัวเอง เนื่องจากหุ้นเป็นตัวสำคัญที่จะเร่งความรวย และจะต้องเป็นพอร์ตการลงทุนหุ้น จะต้องเป็นแบบโฟกัส หมายถึง จะต้องถือหุ้นน้อยตัว อาจจะมีหุ้นหลักๆ เพียง 5-6 ตัว แต่ละตัวต้องใหญ่พอควรคิดเป็นเงินถึง 3 ใน 4 ของเงินทั้งหมดในพอร์ต
เช่น ถ้าพอร์ตลงทุน 1 ล้านบาท ควรลงทุนหุ้นแต่ละตัว ราว 1-2 แสนบาท ถ้าเป็นเบี้ยหัวแตกการลงทุนจะไม่เป็นผล
"ด้วย วิธีเร่งเต็มที่ หรือแบบซูเปอร์ไฮเวย์นี้ เราอาจจะสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากหุ้นขึ้นอีก 3-4% ต่อปี ซึ่งในระยะยาวแล้วจะทำให้เรารวยเร็วขึ้นมาก หรืออาจจะได้ผลตอบแทน 15% ต่อปี"
นิเวศน์บอกว่า เงินที่เราลงทุนทบต้นในทุกๆ 17 ปี จะงอกเงยเพิ่มเป็น 10 เท่า หากทบต้น 34 ปี ก็เป็น 100 เท่า
ฉะนั้น เงินทุกก้อนที่ใส่ไปจะทบขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่เอาออกมาใช้เลย ถ้าได้ผลตอบแทนปีละ 15% เมื่ออายุ 40-50 ปี เงินก็จะเพิ่มเป็น 40-50 ล้านบาทแล้ว เพียงพอใช้ยามเกษียณได้แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าถ้ามีเงินลงทุนมากก็ร่ำรวยมาก
เจ้าตำรับนักลงทุนหุ้นมูลค่าบอกว่า หากเร่งรวยในสเต็ปที่ 3 จะประสบความสำเร็จ มีโอกาสมั่งคั่งและมีอิสรภาพการเงินเร็วที่สุด
"การ ตั้งเป้ามีเงิน 10 ล้านบาท นี่เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะเวลาเราลงทุน หลักการคือ เมื่อมีเงินก้อนจะเก็บไว้ใช้บั้นปลายชีวิตเท่านั้น เมื่อมีกำไรต้องเก็บเอาไว้ อย่าดึงเอาไปใช้จ่าย แต่ต้องทบต้นไปเรื่อยๆ ได้กำไรเท่าไรไม่เอาออก ทบต้นไปทุกปี
หลักการทบต้นนี้จะทำให้เงินงอกเงินรวดเร็ว จะทำให้อัตราเร่งรวยสูงมากเป็นทวีคูณ
แต่ ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่จะไม่ได้เร่งในทุกสเต็ป อาจตึงในสเต็ปที่ 2 และ ที่ 3 แต่การเริ่มต้นสเต็ปแรก เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ถ้าคุณไม่ตัดสินใจการลงทุน จะเป็นทางสายหย่อนหมด เพราะเงินจะอยู่กับการฝากแบงก์ เพราะไม่กล้าเสี่ยง ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำสุด"
ขณะที่คนที่เลือกเดินทางสาย หย่อนทั้ง 3 สเต็ป โอกาสที่จะร่ำรวยหรือเกษียณอายุจะอยู่อย่างลำบาก หากเร่งเต็มที่ในสเต็ปแรก อาจจะเกษียณด้วยความสุขพอควร
แต่หากเดินสายกลาง อาจเกษียณอายุเร็วขึ้นและสบายกว่า
และถ้าใช้ทางสายตึงในสเต็ปสุดท้าย จะสบายที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น