Welcome to Blog ห้องสมุดความรู้ หากท่านถูกใจ ฝากกดแชร์( Like) (G+) (Tweet) ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้จัด ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เฮงๆรวยๆ #4289
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดิน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดิน แสดงบทความทั้งหมด

ธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ

ธาตุหลักทั้ง 4 เป็นหลักการตามปรัชญาโบราณในหลายๆวัฒนธรรม ใช้ในการอธิบายลักษณะพื้นฐานของสิ่งๆ ต่างในธรรมชาติ เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ผ่านเข้าสู่ยุคกลาง และ เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะของยุโรป ความรู้นี้เป็นพื้นฐานของความเชื่อและวัฒนธรรมต่างๆ ของยุโรปอย่างมาก และในขณะเดียวกัน ทางตะวันออกอย่างอินเดีย และจีนก็มีแนวคิดนี้เช่นกันตั้งแต่สมัยโบราณ และกลายมาเป็นพื้นฐานความรู้ของลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธด้วย

ดิน

  • ตำราตะวันตก
จากการตีความตามตำราเวทย์ของยุโรป ดินเป็นธาตุสถานะแข็ง สัญลักษณ์แห่งการก่อตั้ง เป็นธาตุเริ่มต้นในการกำเนิดทุกสิ่ง เสมือนแม่ผู้ให้ทั้งอาหาร ที่อยู่ และสิ่งต่างๆ แก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวง เป็นฝ่ายที่รับรอง คอบโอบอุ้มสิ่งต่างๆ สามารถสื่อถึง ความมั่นคง พละกำลัง ความอุดมสมบูรณ์และการเจริญเติบโตทั้งด้านการงานและการเงินด้วย
สัญลักษณ์ของดิน เป็น สามเหลี่ยมคว่ำมีขีดทับกลางสีเขียว ซึ่งเป็นสีของพืชที่ปกคลุมพื้นดิน (หรือสี่เหลี่ยมสีเหลือง แล้วแต่ตำรา) ทิศของธาตุดินคือทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศของฤดูหนาว เวลาค่ำ และวัยอาวุโส ดินมีคุณสมบัติแห้ง (เหมือนธาตุไฟ) และเย็น (เหมือนธาตุน้ำ) ธาตุดินจึงกลายเป็นธาตุขั้วตรงข้ามของธาตุลม พลังแห่งดินถูกส่งผ่านต้นไม้ ก้อนหิน และเหล่าสรรพสัตว์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับธาตุดินมาก
ทางด้านโหราศาสตร์ ธาตุดินกลายเป็นธาตุประจำ ราศีพฤษภ ราศีกันย์ และ ราศีมังกร ซึ่งมีลักษณะนิสัยที่มั่นคง ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ถูกตีความลักษณะนิสัยเหล่านั้นให้เหมือนกับดิน ดินเป็นธาตุเพศหญิง ดังนั้นการตีความลักษณะนิสัยของ 3 ราศีดังกล่าวจึงเป็นลักษณะนิสัยเพศหญิง เช่นเดียวกับไพ่ทาโร่ต์ ซึ่งใช้ดินเป็นธาตุหลักในการอธิบาย ตีความไพ่ด้วย สัญลักษณ์เหรียญหรือตราวงกลม บนไพ่ทาโร่ต์ เป็นตัวแทนของธาตุดิน
  • ตำราตะวันออก
ทางพุทธศาสนา ดิน ถูกใช้สื่อเป็นตัวแทนในการอธิบาย เรื่องขันธ์ 5 ว่ากายของเราในส่วนที่กล้ามเนื้อ กระดูก และสิ่งอื่นๆที่เป็นของแข็ง ซึ่งไม่มีความคงทนถาวร ทุกกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ สำหรับชาวฮินดูก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องดินเช่นกัน เทพประจำธาตุดินคือ ภูมิเทวี หรือพระแม่ธรณี
ตามตำราจีน ธาตุดินเป็น 1 ใน 5 ธาตุหลักของจีน มีสีประจำเป็นสีเหลือง กลายเป็นธาตุกลางของธาตุอื่นๆ ประจำจุดศูนย์กลางแห่งสวรรค์ซึ่งเป็นที่ของมังกรทองฮวงหลงตามตำรา อสูรปกครองศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นธาตุที่สนับสนุนธาตุโลหะ เอาชนะธาตุน้ำได้ กำเนิดจากธาตุไฟ และพ่ายแพ้ต่อธาตุไม้ ซึ่งทางโหราศาสตร์ของจีน ก็นำเรื่องธาตุมาใช้เช่นเดียวกับทางตะวันตก ดินเป็นตัวแทนของดาวเสาร์ ดังนั้นวันเสาร์ในภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลี จึงเป็นวันของดิน หรือ โดะโยบิ 土曜日:どようび และ โทโยอิล 토요일 (โดยที่ โดะ กับ โท มีความหมายว่าดิน) ในตำราทางการแพทย์ของจีน ธาตุดินเกี่ยวข้องรสหวาน การดมกลิ่น นิ้วชี้ โดยมีอวัยวะภายในหยิน คือ ม้าม ตับอ่อน และหยางคือ ท้อง ตามตำราของญี่ปุ่นธาตุดินก็มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับตำราตะวันตก และ ความรู้เกี่ยวกับขันธ์ 5 ด้วย

น้ำ

  • ตำราตะวันตก
น้ำเป็นธาตุมีสถานะเหลว และเป็นธาตุที่สำคัญอีกธาตุหนึ่งที่ไม่แพ้กับธาตุดิน สิ่งมีชีวิตจะขาดน้ำไม่ได้ น้ำเป็นสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับทุกสิ่ง ธาตุน้ำกลายเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอารมณ์รัก น้ำยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการรักษา การชำระล้างสิ่งชั่วร้ายและสิ่งสกปรกด้วย
สัญลักษณ์ของน้ำ เป็น สามเหลี่ยมคว่ำสีฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งของน้ำ น้ำเป็นธาตุประจำทิศตะวันตก ทิศแห่งการเพาะปลูกและการผลิต จึงเชื่อมโยงกับฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวยุโรปเก็บเกี่ยว ผลิตผลต่างๆ นอกจากนั้นทิศนี้ยังเป็นทิศแห่งเวลาบ่าย และช่วงอายุวัยเจริญพันธุ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์) ด้วย น้ำมีคุณสมบัติชื้น (เหมือนธาตุลม) และเย็น (เหมือนธาตุดิน) ธาตุน้ำจึงตรงข้ามกับธาตุไฟ พลังแห่งน้ำถูกส่งผ่านสายน้ำและเปลือกหอย
ทางด้านโหราศาสตร์ ราศีกรกฎ ราศีพฤศจิก และ ราศีมีน เป็นราศีธาตุน้ำ ซึ่งเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย คล้ายลักษณะการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของสายน้ำ นอกจากนั้นน้ำเป็นธาตุเพศหญิง เช่นเดียวกับธาตุดินด้วย 3 ราศีดังกล่าวจึงมีลักษณะนิสัยคล้ายเพศหญิง สำหรับไพ่ทาโร่ต์ ถ้วยสีทองถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนธาตุน้ำอีกด้วย
  • ตำราตะวันออก
น้ำเป็น 1 ในธาตุที่ใช้ในเรื่องขันธ์ 5 ของธาตุพุทธศาสนาเช่นกัน น้ำสื่อถึงของเหลวทุกชนิดในร่างกาย ตั้งแต่เลือดไปจนถึงน้ำย่อย ตามความเชื่อของชาวฮินดู น้ำเป็น 1 ในธาตุหลักเช่นเดียวกัน
ตามตำราจีน ธาตุน้ำเป็น 1 ใน 5 ธาตุหลักของจีน สีประจำธาตุเป็นสีดำ และเกี่ยวข้องกับทิศเหนือซึ่งเป็นทิศของ เต่าเฉวียนอู่ 1 อสูรในอสูรปกครองศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 น้ำเป็นธาตุสนับสนุนธาตุไม้ เอาชนะธาตุไฟ กำเนิดจากธาตุโลหะ และพ่ายแพ้ต่อธาตุดิน และเช่นเดียวกันธาตุน้ำถูกใช้เป็นลักษณะนิสัยบ่งบอกตามโหราศาสตร์ขงอชาวจีน ด้วย น้ำเป็นสัญลักษณ์ของดาวพุธ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี วันพุธแปลว่าวันแห่งน้ำ หรือ 水曜日:すいようびซุยโยบิ และ 수요일ซูโยอิล (ซึ่งคำว่า ซุย และ ซู แปลว่าน้ำ) น้ำเกี่ยวข้องกับรสเค็ม การรับรสชาติ นิ้วก้อย อวัยวะภายในหยินเป็นไต และแบบหยางเป็นกระเพาะปัสสาวะ ตามตำราแพทย์ของจีน ตามตำราของญี่ปุ่น น้ำ เป็นธาตุหลักสำคัญด้วยซึ่งมีความคล้ายกับตำราทางตะวันตก แต่เพิ่มลักษณะพิเศษตรงที่ ธาตุน้ำของญี่ปุ่นนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับแม่เหล็กด้วย


ลม

  • ตำราตะวันตก
ลมเป็นธาตุที่สถานะเป็นแก็ซ ลมหรือากาศ เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์และสัตว์หลายๆชนิด อากาศเป็นสิ่งที่สำคัญถ้าขาดอากาศก็ถือว่าไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ลมเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว ความรู้ การสื่อสาร ดังนั้น เสียงจึงเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกส่งผ่านธาตุลม รวมถึงกลิ่นอีกด้วย
ลมมีสัญลักษณ์เป็นรูป สามเหลี่ยมหงายมีเส้นขีดทับตรงกลาง สีเหลือง เนื่องจากเราไม่สามารถมองเห็นลมได้ สีที่ใช้คือสีเหลือง ซึ่งเป็นสีท้องฟ้าและแสงแดด โดยที่ทิศประจำธาตุลมคือ ทิศตะวันออก ทิศแห่งการเริ่มต้น เชื่อมโยงกับฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสรรพสิ่งต่างๆฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ต้นไม้เริ่มผลิดอกและใบ สัตว์ทั้งหลายตื่นจากการหลับไหลในช่วงจำศีลในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นธาตุลมจึงเป็นตัวแทนเวลาเช้า และช่วงอายุวัยเด็กด้วย ลมมีคุณสมบัติชื้น (เหมือนธาตุน้ำ) และร้อน (เหมือนธาตุไฟ) ลมจึงตรงข้ามกับธาตุดินโดยสิ้นเชิง พลังของลมถูกส่งผ่านเสียง กลิ่น หรือแม้แต่ขนนกสัตว์ตัวแทนแห่งสายลม
ราศีเมถุน ราศีตุลย์ และ ราศีกุมภ์ เป็นราศีธาตุลมตามตำราโหราศาสตร์ ตามลักษณะนิสัยของราศีดังกล่าว เป็นคนที่มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นคนที่ฉลาดด้วย นอกจากนั้นลมเป็นธาตุเพศชาย ซึ่งสื่อถึงลักษณะนิสัยของ 3 ราศีข้างต้นด้วย สำหรับไพ่ทาโร่ต์ ดาบกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำธาตุลม
  • ตำราตะวันออก
ทางพุทธศาสนา ลมเป็น 1 ใน 4 ของร่างกายตามนิยามเรื่อง กาย ของขันธ์ 5 คือลมของร่างกายนั้น คือลมหายใจเข้าออกนั่นเอง รวมทั้งทางด้านตำราของฮินดูลมก็เป็นเทพสำคัญอีกองค์หนึ่ง ซึ่งรู้จักกันในนามของ วายุ หรือ พระพาย ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดทหารเอกองค์หนึ่งของพระราม คือ หนุมาน นั่นเอง
ถึงแม้ตามตำราจีนจะไม่ได้ถือว่า ลม เป็น 1 ใน 5 ธาตุหลักของจีนก็ตาม แต่ตามเทพนิยายของจีนก็มีการพูดถึงเรื่องลมอยู่บ้าง โดยให้มังกรเป็นตัวแทนให้ธาตุลมด้วย เป็นราชาแห่งดิน ฟ้า อากาศ คอยควบคุมสภาพอากาศบนโลก แต่ตามตำราของญี่ปุ่นแล้ว นอกเหนือจาก ดิน และน้ำ แล้ว ลมกลับเป็น 1 ใน 5 ธาตุหลักซึ่งนอกจากลมจะเป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ ที่ถูกพูดมาตามตำราตะวันตก รวมถึงมีแนวคิดตรงกับเรื่องขันธ์ 5 ของพุทธศาสนาแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังถือว่าลมมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศด้วยดังนั้น ลมจึงมีความเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเช่นกัน

ไฟ

  • ตำราตะวันตก
ไฟ เป็นธาตุเดียวที่ไม่ใช่สสาร แต่มีสถานะเป็นพลังงาน เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และเป็นทั้งผู้ทำลาย เนื่องจากไฟสามารถสร้างแสงสว่างในยามค่ำคืน เป็นที่พึ่งพิงยามหนาว แต่ก็สามารถเผาผลาญทำลายได้เช่นกัน ไฟเป็นตัวแทนแห่งแรงขับเคลื่อน พลังงาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นเสมือนสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกสิ่งมีชีวิตชีวา พลังแห่งธาตุไฟส่งผ่านแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และความร้อน ความอบอุ่นๆอื่น หรือแม้แต่ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ด้วย
สัญลักษณ์ของไฟ เป็น สามเหลี่ยมหงายสีแดง ซึ่งเป็นสีเพลิงนั่นเอง ทิศของธาตุไฟคือทิศใต้ ซึ่งตามตำรานั้นทิศใต้เป็นทิศของความร้อน ซึ่งเกี่ยวโยงกับฤดูร้อนและเวลาเที่ยง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร้อนมากที่สุด รวมถึงสื่อถึงช่วงอายุวัยรุ่นซึ่งมีพลังงานและแรงขับเคลื่อนมากพอที่จะสร้าง สรรค์หรือแม้แต่ทำลายสิ่งต่างๆได้ ธาตุไฟมีคุณสมบัติแห้ง (เหมือนธาตุดิน) และร้อน (เหมือนธาตุลม) ดังนั้นธาตุไฟจึงเป็นขั้วตรงข้ามกับธาตุน้ำ
ธาตุไฟเป็นธาตุประจำ ราศีเมษ ราศีสิงห์ และ ราศีธนู ซึ่งมีลักษณะนิสัยเป็นผู้ริเริ่ม สร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ อารมณ์เร่าร้อน รุนแรง นอกจากนั้น 3 ราศีดังกล่าวยังมีลักษณะนิสัยเหมือนเพศชาย เพราะเนื่องจากธาตุไฟเป็นธาตุเพศชายด้วย สำหรับไพ่ทาโร่ต์ สัญลักษณ์คฑา(ไม้)เป็นตัวแทนของธาตุไฟด้วย
  • ตำราตะวันออก
ไฟ เป็น 1 ในธาตุของร่างกายตามความคิดเรื่องขันธ์ 5 ของพุทธศาสนา โดยสื่อถึงพลังงานความร้อนที่มีในร่างกายของมนุษย์นั่นเอง ตามตำราฮินดูไฟก็เป็น 1 ในธาตุหลักเช่นกัน
ธาตุไฟเป็น 1 ใน 5 ธาตุหลักตามตำราจีน โดยที่มีสีประจำเป็นสีแดง ในมี จูเชว่ 1 ในอสูรปกครองศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 เป็นอสูรประจำธาตุนี้ด้วย ธาตุไฟสนับสนุนธาตุดิน เอาชนะธาตุโลหะ กำเนิดจากธาตุไม้ และพ่ายแพ้ต่อธาตุน้ำ ไฟถูกใช้ในด้านโหราศาสตร์ตามตำราจีนเช่นกัน ไฟเป็นธาตุประจำดาวอังคาร วันอังคารของญี่ปุ่นและเกาหลีจึงมีความหมายว่า วันของไฟ หรือ คะโยบิ 火曜日:かようびและ ฮวะโยอิล 화요일 (คะ และ ฮวะ มีความหมายว่า ไฟ) ในตำราทางการแพทย์ของจีน ธาตุไฟเกี่ยวข้องรสขม การรับเสียง นิ้วกลาง โดยมีอวัยวะภายในหยิน คือ หัวใจและหยางคือ ลำไส้เล็ก ตามตำราของญี่ปุ่นธาตุไฟมีคุณสมบัติเหมือนกับตำราตะวันตก และ ความรู้เกี่ยวกับขันธ์ 5 เช่นกัน